เรื่องเงินกับชีวิตครอบครัว จัดการอย่างไง ? ไม่มีทะเลาะแน่นอน
หนึ่งในปัญหาที่อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว คงหนีไม่พ้นเรื่องของเงิน ไม่ว่าจะมีแฟนหรือชีวิตคู่ ที่ต้องเดินไปข้างหน้าทำให้ต้องเริ่มวางแผนชีวิต การวางแผนแต่งงาน การวางแผนมีลูก เรื่องของการบริหารการเงินก็สำคัญไม่แพ้กัน ว่าจัดการเงินอย่างไรดี มาดูกันว่าวิธีการเก็บเงินครอบครัว แบบไหนจะเวิร์กที่สุด หมดปัญหาการทะเลาะกัน ภายในครอบครัว
ในแต่ละปีมีคู่รักหรือคนแต่งงานมีครอบครัว เลิกรา หย่าร้างกันมากขึ้นเรื่อยๆ เกือบทุกปัญหาส่วนใหญ่ล้วนมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ เช่น หนี้สินที่เกิดขึ้นจากการกู้เงินมาจัดงานแต่งงาน หรือกู้เงินซื้อบ้าน ซื้อรถ ภาระที่มากขึ้น เพราะไม่ได้วางแผนการเงินไว้พฤติกรรมการใช้เงินที่มีแต่จ่ายออก แต่มีรายรับเข้าทางเดียวจากเงินเดือนประจำ สุดท้ายก็ชักหน้าไม่ถึงหลัง ติดอยู่ในลูปของหนี้เสียที่หาเงินมาเท่าไหร่ก็จ่ายหนี้ไม่พอสักที
สาเหตุที่อาจทำให้การเงินครอบครัวมีปัญหา
1.ไม่คุยเรื่องการบริหารเงิน และการวางแผนการเงิน
2.ปัญหาหนี้สินทั้งของตนเองและคนในครอบครัว (ของทั้ง 2 ฝ่าย) รวมถึงการค้ำประกันให้ผู้อื่น
3.ปัญหาพฤติกรรมการใช้เงินและการติดการพนันของตนเองและคนในครอบครัว
เทคนิคในการวางแผนการเงิน
1. จัดสรร ระหว่างค่าใช้จ่ายส่วนตัว
เริ่มต้นการจัดสรรค่าใช้จ่ายส่วนตัว หรือค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ให้แยกจากเงินกองกลางและเงินก้อนอื่น ๆ อย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถจัดสรรเงินได้อย่างเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น และไม่กระทบกับเงินสำหรับใช้จ่ายก้อนอื่น ๆ
2. วางแผนค่าใช้จ่ายสำหรับลูก
ค่าใช้จ่ายสำหรับลูก เป็นค่าใช้จ่ายอีกหนึ่งอย่างที่ควรแยกมาจากเงินกองกลาง เพราะนับว่าเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ และต้องมีการเก็บสำรองเอาไว้เผื่อในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย ค่ารักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนพิเศษ และค่าสังคมต่าง ๆ ซึ่งการแยกเงินสำหรับลูกกับเงินกองกลางจะช่วยให้คุณสามารถใช้จ่ายได้คล่องตัวขึ้น
3. จัดทำบัญชีเงินกองกลาง
ในการจัดทำบัญชีเงินกองกลาง จะต้องเริ่มต้นจากการทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือน เพื่อกำหนดว่าจะแบ่งการออกค่าใช้จ่ายกันอย่างไร โดยจะต้องมีการกำหนดร่วมกันตั้งแต่แรกว่าจะแบ่งการออกค่าใช้จ่ายด้วยวิธีหารเท่า หรือให้คนที่มีรายได้มาก นำเงินเข้ากองกลางมากกว่า โดยบัญชีเงินกองกลางนี้ จะเป็นบัญชีสำหรับเก็บเงินที่ใช้จ่ายในแต่ละวันของสมาชิกทุกคนภายในบ้าน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น ๆ เป็นต้น
4. ทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย
การทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย ไม่ว่าจะกับบัญชีใด ๆ จะช่วยให้คุณสามารถจัดสรรการเงินได้เป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณทราบได้ด้วยว่า รายจ่ายในแต่ละเดือนของคุณหมดไปกับค่าอะไรบ้าง มีค่าใช้จ่ายอะไรที่ไม่จำเป็นและสามารถลดได้หรือไม่ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยสร้างวินัยทางการเงินและทำให้คุณบริหารเงินได้ดียิ่งขึ้น
5. ต้องมีเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
เงินสำรองฉุกเฉิน เป็นเงินก้อนสำคัญที่ควรจะเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็นจริง ๆ โดยควรจะมีเงินสำรองเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนอย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อประคับประคองครอบครัวให้ผ่านวิกฤตหรือสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ไปได้ นอกจากนี้ยังควรเป็นเงินเก็บที่มีสภาพคล่องสูง สามารถเบิกเงินออกมาใช้จ่ายฉุกเฉินได้ง่าย และรวดเร็ว
6. เรื่องเกษียณก็สำคัญไม่แพ้กัน
การวางแผนเกษียณ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความใส่ใจเป็นอย่างมาก เพราะเพื่อให้ลูก ๆ ไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเมื่อพ่อแม่เกษียณ หรือหากพ่อแม่เกษียณในขณะที่มีภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกอยู่ เงินในส่วนนี้ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้ ทั้งนี้ นอกจากการจัดสรรเงินออมแล้ว ยังควรวางแผนการลงทุนเพื่อสร้างรายได้และเพิ่มความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวด้วยเช่นกัน
7. ไม่สร้างหนี้เสียให้เกินตัว
นอกจากการวางแผนจัดการเงินครอบครัวแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญและจะช่วยให้คุณสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ก็คือ การไม่สร้างหนี้เสียให้เกินตัว เพราะไม่ว่าคุณจะวางแผนการเงินครอบครัวไว้ดีแค่ไหน แต่หากไม่มีวินัยทางการเงินและสร้างหนี้เสียมากเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินในอนาคตได้
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35