เงินทองของจริง

วิเคราะห์หนี้ธุรกิจ จับสัญญาณรับมือหนี้เสีย ให้อยู่หมัด!

ไม่มีความสำเร็จใดได้มาฟรี ๆ "หนี้ธุรกิจ" หากเกิดแล้ว แก้อย่างไร เจาะลึกสาเหตุที่ทำให้เกิด "หนี้เสีย" พร้อมวิธีรับมือสำหรับนักธุรกิจไม่ให้เสียศูนย์ จนต้องสูญเสีย

"หนี้ธุรกิจ" มีทั้งหนี้ดีและไม่ดี หนี้ดี หมายถึง หนี้ที่ก่อแล้วทำให้เกิดการต่อยอดธุรกิจ ส่วนหนี้ไม่ดี หมายถึง หนี้ที่ทำให้เกิดภาระ ถือเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งมีสาเหตุหลัก ได้แก่

1. การบริหารจัดการเงินที่ไม่ดี เช่น ไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่าย ทำให้ธุรกิจใช้เงินเกินรายรับ หรือการกู้เงินมาลงทุน แต่กลับนำเงินไปใช้ผิดประเภท

2. วางแผนทางธุรกิจไม่เหมาะสม เช่น ธุรกิจที่กำลังไปได้สวย ทำให้เจ้าของกิจการเกิดความเชื่อมั่นมากเกินไป จนทุ่มทุนทั้งหมดในการสต็อกสินค้า แต่ผลสุดท้ายกลับกระแสตก ทำให้ขายไม่ออกจนเกิดความเสียหาย

3. ความเสี่ยงในการลงทุน หากไม่วิเคราะห์และวางแผนจัดการความเสี่ยงให้ดีพอ อาจทำให้ธุรกิจนั้นล้มได้

4. สภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย เช่น โควิด-19 ที่ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ ผู้คนออกจากบ้านไม่ได้ ทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก

5. การแข่งขันกับธุรกิจอื่น เช่น สินค้าและบริการไม่เป็นที่ต้องการของตลาด หรือคู่แข่งทำได้ดีกว่า เป็นปัจจัยทำให้ยอดขายลดลง ในขณะเดียวกัน ภาระค่าใช้จ่ายก็ยังคงอยู่

คนทำธุรกิจจับสัญญาณอย่างไรว่าหนี้ที่มีอยู่เริ่มกลายเป็นหนี้ที่อันตรายแล้ว

1. เงินสด ต้องให้มีเหลือเผื่อหมุนเวียน ซึ่งเจ้าของธุรกิจต้องทราบว่ากิจการของตนเองใช้เงินต่อเดือนเท่าไร โดยต้องมีเงินสำรองที่พิจารณาจากการเก็บเงินลูกค้า และการจ่ายเงินซัพพลายเออร์ ให้สัมพันธ์กัน แต่หากไม่ต้องการเสี่ยงมาก ธุรกิจควรมีเงินหมุนเวียนสำรองไว้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ถ้าหากมีน้อยกว่านั้นถือว่าเป็นเรื่องอันตราย

2. เก็บเงินลูกค้าได้ช้า หรือหนี้ค้างรับสูง เป็นเรื่องที่ต้องจัดการให้ดี หากเงินเข้าไม่มี แต่กลับถูกเรียกเก็บเงินเร็ว อาจนำพาไปสู่การเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาที่ผิด จนทำเกิดหนี้สินก้อนใหม่เพิ่มขึ้นได้

3. ควบคุมรายจ่ายไม่ได้ หากไม่ทำบันทึกรายรับรายจ่ายให้ดี อาจมีเงินรั่วไหลออกไปโดยที่เจ้าของกิจการไม่รู้ตัว

4. สต็อกมากเกินไป ทำให้เกิดปัญหาได้ เพราะวันใดวันหนึ่งที่ความนิยมของลูกค้าเปลี่ยน สินค้าหรือบริการนั้นจะขายไม่ออกในที่สุด

ทางออกคนทำธุรกิจ บริหารจัดการหนี้ธุรกิจอย่างไร ให้ได้ผลดีที่สุด

1. หนี้จากลูกค้าค้างจ่าย พยายามเก็บให้ได้เร็วที่สุด เพื่อนำเงินกลับมาหมุนเวียนหนี้การค้าต่าง ๆ โดยอาจใช้วิธีจัดโปรโมชัน หรือเสนอรูปแบบการผ่อนจ่ายเพื่อให้พอมีเงินกลับเข้ามาบ้าง

2. จัดการสต็อกที่จมอยู่ โดยสำรวจว่ามีสินค้าใดที่จมสต็อกอยู่บ้าง จากนั้นรีบนำมาขายระบายออกให้รวดเร็ว

3. เปลี่ยนจากหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว เช่น การรีไฟแนนซ์ ปรับอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดภาระทางการเงิน เป็นต้น

พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.15-9.25 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark