Bank Run สัญญาณทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย
พูดถึงสถานการณ์ที่ทำเอาทั่วโลกตกอกตกใจกัน มีข่าวลือว่าธนาคารในสหรัฐอเมริกาล้ม ! แท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้น เรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร ?
เริ่มต้นจากธนาคารแรก คือ Silicon Valley Bank หรือ SVB ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น "ธนาคารเฉพาะกิจ" เพราะกลุ่มลูกค้าคือกลุ่มธุรกิจ Startup และในช่วง โควิด-19 เริ่มระบาดหนักมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ผู้คนไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้ตามปกติ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นช่วงเวลาทองของกลุ่มหุ้น Tech หรือกลุ่มเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตอย่างเฟื่องฟู เพราะชีวิตของผู้คนเหล่านั้นได้ถูกเติมเต็มด้วยเทคโนโลยีนั่นเอง
ยุคทองของบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้น มีเงินเยอะมาก พวกเขาจึงต้องหาที่ฝากเงิน และธนาคารที่ถูกเลือกก็คือ SVB แต่โดยธรรมชาติของธุรกิจ Startup ในกลุ่มเทคโนโลยีแล้ว ช่วงเริ่มต้นอาจจะไม่มีกำไร เพราะเป็นธุรกิจที่มุ่งเน้นในการหา User หรือ ผู้ใช้งาน เช่น Social Media ต่าง ๆ ที่ในช่วงแรกดึงผู้คนโดยการเปิดให้บริการฟรี และเมื่อมีผู้ใช้งานจำนวนมากแล้ว จากนั้นอาจจะหารายได้จากการขายโฆษณา
เมื่อ SVB มีบริษัทต่าง ๆ มาฝากเงินเป็นจำนวนมาก เขาจึงแบ่งเงินเหล่านั้นออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกใช้สำหรับหมุนเวียนภายในธนาคาร และส่วนที่สองนำไปลงทุนโดยการซื้อพันธบัตรอเมริกาที่ได้ดอกเบี้ยอัตรา 1.7% ซึ่งธนาคารสามารถบริหารจัดการทุกอย่างไปได้ด้วยดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปอีก 2 ปีให้หลัง กลุ่มหุ้น Tech ราคาดิ่งลงอย่างมาก ทำให้บริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีระดมทุนลำบาก และเมื่อระดมทุนไม่ได้ บริษัทเหล่านั้นจึงแห่กันไปนำเงินออกจนหมด ในขณะที่ธนาคารมีเงินหมุนเวียนเพียงครึ่งเดียว ทำให้จำใจต้องขายพันธบัตรที่เคยลงทุกไว้อีกครึ่งหนึ่ง เพื่อนำเงินมาให้ลูกค้าถอน และประจวบเหมาะกับเงินเฟ้อที่กำลังพุ่งขึ้นสูงมาก ที่ธนาคารสหรัฐฯ กำลังต่อสู้โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่เรื่อย ๆ ทำให้มูลค่าของพันธบัตรยิ่งติดลบไปอีก จึงเป็นเหตุทำให้ SVB ขาดทุน
ทั้งนี้ ธุรกิจใดก็ตาม จะล้มก็ต่อเมื่อ "ขาดเงิน" มิใช่ "ขาดทุน" เพราะขาดทุนยังสามารถหยิบยืมเงินเพื่อหมุนเวียนกิจการได้ แต่ขาดเงินอย่างกรณี SVB เป็นสภาวะที่เรียกว่า "Bank Run" คือ ลูกค้าแห่ถอนเงินในเวลาเดียวกัน แต่ธนาคารมีให้ไม่เพียงพอ
สภาวะ Bank Run ที่เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้โดยตรงก็ต่อเมื่อประเทศไทยมีการร่วมลงทุน ซึ่งในปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศออกมาแล้วว่า เท่าที่ตรวจสอบยังไม่มีธนาคารใดในประเทศไทยที่ร่วมลงทุนหรือมีความเชื่อมโยงด้วย ดังนั้นจึงอยู่ในสภาวะที่เรียกว่ามีความแข็งแกร่งสูง และโดยส่วนใหญ่อัตราการปล่อยสินเชื่อยังอยู่ในเกณฑ์ที่มีการควบคุมดูแล ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะทำให้เงินขาดจึงยังไม่มี นอกจากนั้น ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง ก็ได้มีการตรวจสอบด้วยเช่นกัน แต่ก็ยังไม่พบธุรกิจใดในไทยที่ร่วมลงทุนหรือมีความเชื่อมโยงด้วย
ต้องบอกว่าทุกวิกฤตทางการเงิน ทำให้การเรียนรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ ทำให้ธนาคารต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนระบบให้มีความแข็งแกร่ง และถึงแม้ว่าผลกระทบโดยตรงจะไม่มี แต่ก็ยังมีผลกระทบโดยอ้อมต่อเงินทุนที่จะไหลเข้ามาในประเทศไทย แน่นอนว่าในอเมริกากำลังวุ่นวาย ทำให้เงินที่จะเข้ามาลดน้อยลงเช่นกัน อีกสิ่งที่น่ากลัว คือ หากอเมริกาตกอยู่ในสภาวะถดถอยจริง ๆ ก็หนีไม่พ้นที่ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบห่วงโซ่ไปด้วย
ยอมรับว่าวิกฤต Silicon Valley Bank ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกามีความน่ากลัว ซึ่งอาจทำให้หลายคนมีความกังวลอยู่บ้าง แต่จริง ๆ อยากบอกให้ทุกคนสบายใจว่า เงินฝากของเราได้รับความคุ้มครองอยู่แล้ว ซึ่งหากอยู่ในกลุ่มของธนาคารรัฐฯ จะรับประกันเต็มจำนวน แต่หากอยู่ในธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ จะรับประกันในวงเงิน 1 ล้านบาท จึงอยากให้คลายกังวล แต่ก็ควรเฝ้าระวังและติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน สนามข่าว 7 สี ช่วง "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35