เงินทองของจริง

ทำงานอย่างมีค่า ชราอย่างมีเงิน ! วางแผนเกษียณ อย่างไรไม่ให้ล่ม ?

เมื่อพูดถึงการ "วางแผนเกษียณ" แล้ว เชื่อว่าหลาย ๆ คนเริ่มที่จะวางแผนกันแล้ว แต่เมื่อวันนั้นมาถึง ก็มีหลายคนที่ประสบปัญหา แผนของเราไม่เหมือนที่วางเอาไว้ ! กรณีเช่นนี้ มีปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้แผนเกษียณของเราล้มเหลว...

หากพูดกันตามตรงแล้วคำว่า "แผนเกษียณ" มีหลายคนที่มีมุมมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่เร่งด่วน และด้วยความไม่เร่งด่วน ก็แสดงว่าไม่จำเป็นต้องรีบก็ได้ แต่จริง ๆ แล้ว ปัจจัยที่ทำให้แผนเกษียณล้มเหลวเร็วที่สุดก็คือการ "เริ่มช้า" ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มต้นให้เร็ว ให้ไว ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน โดยใช้ สิทธิประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อเป็นตัวช่วย

ปัจจัยที่ 2 มาจากการดูแคลนคำว่า "เงินเฟ้อ" ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่น่ากลัว ซึ่งต้องบอกว่า เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 20-30 ปี ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยสมมติว่าเราเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี และจากโลกนี้ไปเมื่ออายุ 80 ปี ซึ่งหลังเกษียณนั้นไม่ได้หมายความว่าเงินเฟ้อจะหยุด... ดังนั้น เมื่อเราวางแผนเกษียณ จะต้องคิดเผื่อเงินเฟ้อไว้ด้วยเสมอ

ปัจจัยที่ 3 เป็นคำพูดติดตลกของใครหลายคนว่า "หลังเกษียณแล้วไม่ต้องอยู่นานก็ได้ XD" ซึ่งอาจจะดูตลก แต่แท้จริงแล้ว ควรมองระยะเวลาเผื่อออกไปอีกอย่างน้อย 20 ปี สมมติง่าย ๆ ว่า เรากินใช้ 10,000 บาท/เดือน ตลอดระยะเวลา 20 ปี โดยไม่มีการลดหรือเพิ่มไปกว่านี้ นั่นเท่ากับเงินจำนวน 2.4 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่ได้คิดเผื่อเงินเฟ้อเลยแม้แต่บาทเดียว

ปัจจัยที่ 4 คือ "การวางแผนเก็บออม และการลงทุน" มีหลายคนที่เก็บเงินไว้เป็นเงินฝาก ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก อาจจะต้องใช้ความรู้และเครื่องมือต่าง ๆ ในการลงทุน เช่น กองทุนที่มีสิทธิประโยชน์ไปในทางภาษี เก็บเงินในรูปประกันบำนาญ หรือการสะสมอื่น ๆ ที่มีผลตอบแทนมากกว่าการเก็บเงินในรูปของเงินฝาก เพื่อให้เงินเก็บเหล่านั้นงอกเงยไปถึงแผนเกษียณของเราได้

และปัจจัยที่ 5 เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในคนไทยเยอะมาก คือ "การปล่อยให้ภาระหนี้ลุกลามไปหลังเกษียณ" ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มวางแผนเกษียณ ให้เราคิดไว้ว่าทำอย่างไร ให้เคลียร์หนี้ทุกก้อนให้จบก่อนถึงวันเกษียณด้วย

นอกจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้แผนเกษียณของเราล่มไม่เป็นท่าแล้ว ยังมีปัญหา "เงินไม่พอใช้" ของคนที่อยู่ในวัยเกษียณ ซึ่งเป็นปัญหาน่ากังวลด้วยเช่นกัน แต่ก็ยังมีทางออกอยู่หลายรูปแบบ โดยทางออกแรก และเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด คือ "ควบคุมค่าใช้จ่าย" ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และภาระที่สูงเกินไปออก หากควบคุมได้ ก็จะเป็นตัวช่วยที่ดี

ทางออกที่ 2 คือ "แปลงสินทรัพย์ที่มีให้เป็นทุน" เช่น เมื่อเราอยู่ในวัยทำงานและมีลูก อาจซื้อบ้านหลังใหญ่ราคา 4-5 ล้าน เพื่ออยู่เป็นครอบครัวใหญ่ แต่เมื่อถึงวัยเกษียณ ลูกของเราต่างมีครอบครัวเป็นของตัวเองแล้ว ก็อาจจะขายบ้านหลังเดิม ซึ่งราคาอาจจะพุ่งเป็น 6-7 ล้าน และไปซื้อบ้านหลังเล็กลงที่ราคา 2-3 ล้านเพื่ออยู่อาศัยช่วงบั้นปลาย ก็ทำให้มีเงินกลับเข้ามาได้

และนอกจากการขายบ้านแล้ว ยังมีอีกวิธีที่คล้าย ๆ กัน คือ "สินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ" หมายถึง เมื่อวัยเราทำงาน เราไม่มีเงินก้อนเพื่อซื้อบ้าน เราจึงกู้ธนาคาร แต่เมื่อเราเกษียณแล้ว บ้านปลอดภาระ เราสามารถนำบ้านเข้าธนาคารได้อีกครั้ง เพื่อทำเรื่องจดจำนองตั้งแต่ระยะเวลา 5-25 ปี โดยธนาคารจะจ่ายเงินเป็นรายเดือนกลับมาให้เรา

ทางออกที่ 3 คือ "การสร้างรายได้" แนะนำว่าควรคิดแผนการสร้างรายได้เผื่อเอาไว้ตั้งแต่อายุประมาณ 55 ปี หรือก่อนเกษียณอย่างน้อย 5 ปีนั่นเอง ซึ่งเมื่อเราอายุ 60 ปี เราก็จะมีทั้งเงินเก็บ และยังคงมีรายได้จากสิ่งที่เราทำอยู่ต่อ ๆ ไปอีกนั่นเอง

อย่าดูถูกตัวเองว่า "อายุเยอะแล้ว ทำอะไรไม่ได้" เพราะอย่าลืมว่า "ยิ่งแก่ ยิ่งเก๋า" ยิ่งอายุเยอะ ยิ่งมากประสบการณ์ ถึงแม้ว่าเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว แต่ก็ยังสามารถใช้ความสามารถในการหาเงินได้อยู่

พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน สนามข่าว 7 สี ช่วง "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark