Shipping อย่างไรให้ถูกกฎหมาย เรื่องที่ผู้ประกอบการต้องรู้
ธุรกิจนำเข้าส่งออกเป็นธุรกิจที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ วันนี้จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับการทำ Shipping ให้ถูกวิธี ไม่มีปัญหาทั้งปลายทางและต้นทาง
ธุรกิจกลุ่ม Shipping ถือเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง และสินค้าส่วนใหญ่ที่คนซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ล้วนเป็นสินค้าที่มาจากต่างประเทศทั้งนั้น เช่น ประเทศจีนที่เป็นกลุ่มใหญ่มาก ๆ และร้านค้าที่อาจจะดูไม่ใหญ่โตอะไร แต่เบื้องลึกเบื้องหลังมีการนำเข้าส่งออกกันเป็นเรื่องธรรมดา
สำหรับคนที่สนใจนำเข้าสินค้าทุกประเภท สามารถทำเรื่องการนำเข้าได้โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1. ติดต่อโรงงานจำหน่าย เป็นขั้นตอนเริ่มต้นในการขนส่งสินค้า โดยเริ่มจากผู้ผลิตเป็นลำดับแรก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมหรือตัวแทนจำหน่าย และหน้าที่ของ Shipper คือ ติดต่อประสานงานกับลูกค้า ดำเนินงานจัดการเรื่องสินค้า หลังจากนั้นบริษัท Shipping จะจัดการเรื่องเอกสารการนำเข้าให้เป็นไปตามกฎระเบียบของศุลกากร
2. ทำพิธีการศุลกากรขาออก ในขั้นตอนนี้ผู้จำหน่ายหรือตัวแทนที่เป็นผู้ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หรือ Freight Forwarder ที่ได้รับการจัดจ้างเอาไว้จะทำการแสดงสินค้าต่อศุลกากรเพื่อให้เห็นว่ามีสิ่งใดบ้างที่จะนำออกจากประเทศนั้น ๆ ซึ่งหากไม่พบปัญหาใด ๆ ก็จะใช้เวลาไม่นาน และไม่ต้องแจ้งเพิ่มเติม
3. เตรียมเอกสารสำหรับการนำเข้าก่อนเบิกของออกมา เพื่อจัดจำหน่ายหรือดำเนินการต่อ จำเป็นจะต้องผ่านพิธีการของศุลกากรขาเข้าก่อน โดยขั้นตอนนี้ปัจจุบันสามารถทำได้ด้วยตัวเอง หรือผ่านบริษัท Shipping ก็ได้
4. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า เมื่อทางศุลกากรได้รับข้อมูลที่บันทึกในระบบเรียบร้อยแล้ว จะทำการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากใบส่งสินค้า
5. ตรวจสอบพิสูจน์ตามเงื่อนไขชำระภาษีอากรขาเข้า เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบพิสูจน์รายละเอียดของสินค้าให้เป็นไปตามเงื่อนไขตามที่ศุลกากรกำหนดโดยละเอียดถี่ถ้วน
6. การตรวจสอบและการปล่อยสินค้า ถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย หากตรวจแล้วมีความถูกต้องตรงตามเอกสาร ไม่มีสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งต้องห้าม จะสามารถปล่อยสินค้าจากการอารักขาของศุลกากรได้ ฉะนั้น ผู้นำเข้าต้องยื่นใบขนสินค้าพร้อมใบเสร็จรับเงินที่ชำระเรียบร้อยให้กับกองคลังสินค้า
7. การขนส่งไปยังผู้รับสินค้า เมื่อสินค้าได้รับการตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อย จึงสามารถขนส่งไปยังลูกค้าได้
สำหรับคนที่นำเข้าสินค้ามาขาย ข้อควรระวังในการทำ Shipping เรียงลำดับความสำคัญ ดังนี้
1. การบรรจุหีบห่อ ให้ใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายระหว่างขนส่ง
2. เอกสารที่เกี่ยวข้อง ต้องตรวจสอบเอกสารจำเป็นให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ใบสั่งซื้อ ใบกำกับสินค้า ใบรับรองการขนส่งที่เรียกว่า Shipping Certificate พร้อมตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในเอกสารทุกรายการ
3. การเลือกผู้ให้บริการขนส่ง เลือกผู้ให้บริการที่มีชื่อเสียงดี เพราะประสบการณ์ความเชี่ยวชาญของผู้ให้บริการขนส่งมีผลต่อการขนส่งสินค้าด้วย
4. การประกันสินค้า พิจารณาการเปิดกรมธรรม์ประกันสินค้าเพื่อคุ้มครองตั้งแต่การขนส่งจากจุดเริ่มต้นไปถึงจุดหมายปลายทาง
5. ข้อกำหนดทางศุลกากร รับรู้กฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ ของประเทศต้นทางและปลายทาง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาทางศุลกากรที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่ง
6. การคุ้มครองสินค้าและการเรียกค่าเสียหาย โดยระเบียบของบริษัทขนส่งจะมีข้อแนะนำเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าเสียหายกรณีสินค้าชำรุดหรือสูญหายในระหว่างการขนส่ง ซึ่งมีระเบียบหรือข้อกำหนดที่ต้องทราบให้ดี
ธุรกิจขายของออนไลน์ในยุคนี้ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ด้วยเทคโนโลยีและตัวช่วยต่าง ๆ ที่มากขึ้น หากศึกษาข้อมูลและทำการบ้านดี ๆ แล้ว ก็สามารถเข้าถึงแหล่งต้นทุนราคาถูก ที่จะนำเข้ามาขายทำกำไรได้ด้วยราคาที่ไม่สูงมาก ซึ่งตอบโจททย์ลูกค้าในยุคที่เศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ด้วย
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.15-9.25 น. ทางช่อง 7HD กด 35