Stock นั้นสำคัญไฉน บริหารสินค้าคงคลังสำหรับธุรกิจ
การบริหารจัดการสต็อกสินค้า หากกิจการสต็อกสินค้าไว้เป็นจำนวนมาก จะมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร
ความหมายจริง ๆ ของการสต็อกสินค้า คือ "การผลิตส่วนเกิน" เพราะหากผลิตสินค้าพอดีจำนวน และขายออกพอดีจำนวนได้ ก็ไม่จำเป็นต้องสต็อกสินค้าเอาไว้ แต่หลายกิจการมีความจำเป็นต้องเก็บสินค้าคงคลังเพื่อประโยชน์หลาย ๆ ด้าน ดังนี้
1. ไม่เสียโอกาสในการขาย เพราะสินค้าบางประเภทต้องใช้ระยะเวลาในการผลิต ดังนั้น จึงต้องผลิตเผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการขายได้อย่างต่อเนื่อง
2. ประหยัดต้นทุน หรือ ประหยัดต่อหน่วย เพราะประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่องจักรการผลิตในแต่ละครั้ง ดังนั้น ในมุมมองผู้ซื้อเอง หากสั่งซื้อจากโรงงานเป็นจำนวนมาก ก็จะได้ราคาที่ถูกลงไปด้วย
นอกจากข้อดีของการสต็อกสินค้าแล้ว ในส่วนของข้อเสียเองก็มีด้วยเช่นกัน เพราะสต็อกคือเงินที่แลกเป็นสินค้ามา และหากขายไม่ได้แล้ว เท่ากับว่าเงินของเราถูกวางเอาไว้อยู่เฉย ๆ ซึ่งกระทบไปอีกในหลากหลายด้าน ดังนี้
1. เสียต้นทุนในการเก็บรักษา หรือ Holding Cost ไม่ว่าจะเป็น ค่าพนักงานดูแล ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และสินค้าบางประเภทอาจมีค่าใช้จ่ายในการควบคุมอุณหภูมิด้วย
2. สินค้าอาจเสื่อมสภาพ หมดอายุ ล้าสมัย ถึงแม้ว่าสินค้าบางประเภทอาจมีความคงทนได้ยาวนาน แต่ด้วยวิธีการเก็บรักษาที่ไม่ดีอาจทำให้เสื่อมสภาพเสียหายได้ หรือสินค้าบางอย่างที่ขายออกช้า กลับกลายเป็นว่าหมดอายุไปก่อนที่จะได้เงินทุนคืนมา หรือแม้กระทั่งเทรนด์ ความนิยมชมชอบของผู้คนก็มีผลด้วย
3. ความเสี่ยงที่สินค้าอาจสูญหายได้
4. เงินอาจจมอยู่กับสินค้าในสต็อกที่ขายไม่ออก
สำหรับธุรกิจที่มีสต็อกสินค้า หากต้องการสร้างสมดุลของจำนวนสต็อก และลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการมีสต็อกสินค้ามากเกินไป มีแนวทางบริหารจัดการ ดังนี้
1. ระบบแจ้งเตือนจำนวนสต็อกสินค้า แน่นอนว่าต้องทำควบคู่ไปกับการนับสต็อกเพื่อตรวจสอบด้วย เพราะการทำตัวเลขสต็อกได้ดี จะส่งผลต่อการควบคุม และลดความเสี่ยงจากการผลิตที่มากเกินไป
2. มาก่อนก็ต้องไปก่อน ในกรณีที่สินค้ามีหลายล็อต ต้องผลิตล่วงหน้าเยอะ ๆ แล้ว จะต้องมีการจัดแบ่งพื้นที่วาง หรือติดบาร์โค้ดเพื่อระบุว่าสินค้าตัวไหนมาก่อนมาหลัง เพื่อจัดสรรสินค้าที่ผลิตก่อนมาขายก่อน
3. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับ Supplier เพื่อลดต้นทุน ลดพื้นที่จัดเก็บ ลดโอกาสสินค้าเสียหาย เช่น การขอความร่วมมือให้ทาง Supplier ตรวจสอบความเรียบร้อยก่อนจัดส่ง หรือส่วนประกอบที่ทาง Supplier สามารถผลิตเองได้จนเป็นชิ้นส่วนที่สมบูรณ์ขึ้น ก็ทำให้ประหยัดพื้นที่จัดเก็บในสต็อกของเรา มีความเป็นระเบียบ ไม่กระจัดกระจาย หรือ Supplier บางรายสามารถทำได้ครบวงจรทั้งการผลิต สต็อก และจัดส่งให้ลูกค้า ก็ยิ่งสะดวกต่อธุรกิจเรามากขึ้น
4. คาดการณ์ความต้องการของลูกค้าให้แม่นยำ เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือสูง เช่น ลูกค้าที่มีความสัมพันธ์อันดี เราอาจมีการสอบถามจำนวนสั่งซื้อในอนาคตเพื่อผลิตและจัดส่งตามจำนวน ไม่ต้องเก็บสินค้าเกินสต็อก หรือหากเป็นลูกค้ารายใหม่อาจใช้วิธีเก็บเงินมัดจำเพื่อเป็นหลักประกันไว้ก็สามารถทำได้เช่นกัน
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.15-9.25 น. ทางช่อง 7HD กด 35