ไขข้อข้องใจ ! เคสแบบนี้ประกันเคลมได้ไหม ?
ชวนคุย กับ "นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์" ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) พาไปพูดคุยกับต้นทางผู้ออกกฎหมาย
มาถึงช่วง “Tech Talk” ในรายการ “แบไต๋ 7HD ไอทีและยานยนต์” พบกับ "นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์" ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) พูดคุยถึงวิธีการโกงของเหล่ามิจฉาชีพหัวใสเริ่มมีให้เห็นกันมากมายหลายวิธี ไม่เว้นแม้แต่วงการประกันภัยที่ก็โดนไปจนอ่วมเช่นกัน ดังนั้น จึงมีการออกกฎหมายฉ้อฉลประกันภัยออกมาเพื่อป้องกันมิให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ฉวยโอกาส
คุณอดิศร เผยว่า ในปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก ในอดีตถ้าบริษัทตรวจจับ พบการฉ้อฉลมักจะไม่ดำเนินคดีความ แต่เมื่อโลกเริ่มเปลี่ยนไป ความคิดอะไรต่าง ๆ เริ่มชัดเจนยิ่งขึ้น สำนักงาน คปภ. พบการฉ้อโกงการประกันภัยทั้งจากตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันวินาศภัย และบุคคลภายนอกเพิ่มมากขึ้น การกระทำดังกล่าวส่งผลทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและระบบธุรกิจประกันภัยเป็นอย่างมาก ดังนั้น ในปี 2562 สำนักงาน คปภ. จึงได้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายแม่บท ได้แก่ พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมใสครั้งนั้น รวมถึงการเพิ่มหลักเกณฑ์และบทกำหนดโทษเกี่ยวกับการฉ้อโกงการประกันภัยด้วย เพื่อให้การควบคุมและกำกับดูแลการประกอบธุรกิจประกันภัยเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งเพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจประกันภัย
โดยปัจจุบันมีแก๊งฉ้อโกงประกันภัย ที่สร้างเรื่องหลอกเงินเคลมประกันอุบัติเหตุกับบริษัทประกันภัย โดยมีพฤติการณ์ คือ ตัวแทนประกันภัยเป็นหัวหน้าทีมชักชวนให้ชาวบ้านทำประกันอุบัติเหตุทีเดียว 5-6 บริษัท และสร้างเรื่องว่าประสบอุบัติเหตุขับรถจักรยานยนต์ล้มลง แต่ความจริงแล้วได้ใช้กระดาษทรายถูตามแขนตามตัวให้เป็นแผลถลอก และใช้สากกะเบือทุบที่นิ้วก้อยจนกระดูกแตก เอาน้ำร้อนลวกขาทั้งสองข้างก็มีเพื่อสร้างเรื่องให้เป็นอุบัติเหตุ และเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อให้ได้เงินค่าสินไหมทดแทนหรือเงินค่าชดเชยรายได้ จากนั้นหัวหน้าทีมที่เป็นตัวแทนประกันภัยก็จะไปทำเรื่องเคลม พอเงินมาก็จะแบ่งกันในทีม
กลุ่มมิจฉาชีพกลุ่มนี้ ร่วมกันจัดฉากสร้างบาดแผล เพื่อฉ้อโกงเงินประกันจากบริษัทประกันภัย โดยมีพฤติการณ์ คือ ชักชวนประชาชนให้เข้ามาทำประกันภัย บางครั้งมีการแจ้งข้อมูลเท็จในด้านอาชีพหรือรายได้ของผู้เอาประกัน เพื่อหลอกให้บริษัทประกันภัยยอมออกกรมธรรม์ประกันภัย และจะตระเวนทำประกันภัย อย่างน้อย 10-15 แห่ง เพื่อให้ได้เงินจากการเคลมประกันอุบัติเหตุมากที่สุดในแต่ละเคส
ต่อมาขบวนการจะนัดหมายให้บุคคลผู้เอาประกันมาทำบาดแผล ด้วยการนำน้ำเดือดๆ ราดที่ขาผู้สมัครใจเอาประกัน จนได้รับบาดเจ็บ จากนั้นจะนำตัวผู้เอาประกันส่งโรงพยาบาล และขบวนการมิจฉาชีพจะนำเอกสารที่ให้ผู้เอาประกันลงลายมือชื่อไว้ ไปยื่นขอเบิกเงินเคลมประกัน เมื่อเงินโอนเข้าบัญชีจะนำเอทีเอ็มที่ยึดไว้ไปเบิกออกมา และให้ค่าจ้างตามลักษณะบาดแผล เช่น หากได้รับบาดเจ็บนอนโรงพยาบาล คนรับจ้างจะได้เงินค่าจ้างจากเงินชดเชย คืนละ 3,000 - 5,000 บาท แล้วแต่ตกลงไว้ ในขณะที่ขบวนการฉ้อโกงประกัน จะรอรับเงินเคลมอุบัติเหตุจากกรมธรรม์ที่ทำไว้ 10-15 แห่ง ได้เงินแต่ละเคส ราว ๆ 5 แสนบาท
จุดประสงค์ในการออกมาพูดเรื่องการฉ้อฉลประกันภัย เพื่อต้องการสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนอย่างแพร่หลาย อยากให้ทุกท่านได้ทราบว่าการฉ้อฉลประกันภัยในปัจจุบัน มีหลากหลายรูปแบบ มีประชาชนตกเป็นเหยื่อได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก และส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมวงกว้าง ในวันนี้เราไม่ได้อยากจะมาชี้นำให้คนทำความผิด แต่อยากให้ประชาชนได้รับรู้และระมัดระวังไม่ทำการใด ๆ ที่เข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ โดยสำนักงาน คปภ ดำเนินการอย่างเต็มที่ในการบังคับกฎหมายอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับประชาชนและระบบประกันภัยของไทยให้มีความมั่นคงบนความเชื่อมั่นของประชาชนที่ยั่งยืนต่อไป
ติดตาม รายการ “แบไต๋ 7HD ไอทีและยานยนต์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20-12.40 น. ทางช่อง 7HD กด 35