ข่าวในหมวด ประเด็นร้อนออนไลน์

จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม 23 ม.ค.นี้ กทม.50 เขตพร้อม! เช็กเอกสาร-จองล่วงหน้า

จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม


จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม  กทม.50 เขต เตรียมพร้อม 23 ม.ค.นี้ ลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้า เช็กเงื่อนไขและเอกสารที่ต้องใช้ก่อนจูงมือคู่รักจดทะเบียน

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีความพร้อมสำหรับการ อำนวยความสะดวก ในการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียม พร้อมกันทั่วประเทศ สำนักทะเบียน และอำเภอ 878 แห่ง รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลไทยในต่างประเทศ 94 แห่ง

ด้านกรุงเทพมหานครก็มีความพร้อมสำหรับการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม พร้อมกันทั้ง 50 สำนักงานเขต ในวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2568 นี้ โดยคู่รักที่จะไปจดทะเบียนสมรสลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้าเพื่อความสะดวก ซึ่งเงื่อนไขและคุณสมบัติรวมถึงสิทธิต่างๆ ในการจดทะเบียนสมรสมีดังต่อไปนี้

จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม


อายุเท่าไรจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมได้

- บุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

กรณีที่ไม่สามารถทำการสมรสเท่าเทียมได้ 

1. บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
2. บุคคลสองคนซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ซึ่งความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตามสายโลหิต โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
3. ผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้
4. บุคคลที่ยังมีคู่สมรสอยู่
5. หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่กับชายได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่มีการคลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น หรือสมรสกับคู่สมรสเดิม หรือมีใบรับรองแพทย์ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการรักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์หรือมีคำสั่งของศาลให้สมรสได้
6. ผู้เยาว์จะทำการสมรสต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีอำนาจให้ความยินยอมได้ตามกฎหมาย
7. การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองคนยินยอมเป็นคู่สมรสกัน และต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย

จดทะเบียนสมรสเท่าเทียมที่ไหนได้บ้าง

สำหรับสถานที่รับจดทะเบียนสมรส ได้แก่ สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต และสถานทูต/กงสุลไทยในต่างประเทศ ทุกแห่ง โดยไม่คำนึงถึงภูมิลำเนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง


เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส

1. คนไทยกับคนไทย บัตรประจำตัวประชาชน หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD
2. คนไทยกับคนต่างชาติ บัตรประจำตัวประชาชนคนไทย หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD หนังสือเดินทางคนต่างชาติ หนังสือรับรองสถานภาพการสมรสที่แสดงว่าไม่มีคู่สมรสในขณะที่ จะจดสมรส
3. คนต่างชาติกับคนต่างชาติ หนังสือเดินทาง และหนังสือรับรองสถานภาพการสมรสที่แสดงว่าไม่มีคู่สมรสในขณะที่จะจดสมรส โดยการจดทะเบียนสมรสทั้ง 3 แบบ จะต้องมีพยาน 2 คน ซึ่งเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ

กรณีผู้สมรส มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์แต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้มีอำนาจปกครองของผู้เยาว์ด้วย ไม่สามารถมายินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้ หากมีสัญญาก่อนสมรสให้นำมาแสดงด้วย กรณีเอกสารเป็นภาษาต่างประเทศต้องแปลเป็นภาษาไทยและผ่านการรับรองนิติกรณ์เอกสารตามขั้นตอนของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

จดทะเบียนสมรสเท่าเทียมต้องทำอย่างไรบ้าง ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรส

1. ผู้ร้อง ยื่นคำร้อง คร.1 ต่อนายทะเบียน
2. นายทะเบียนตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไขแห่งกฎหมาย หลักฐานที่เกี่ยวข้อง แล้วลงรายการในทะเบียนให้ครบถ้วน
3. ผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยานลงลายมือชื่อในทะเบียนครอบครัว
4. เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อในทะเบียนครอบครัวและจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ โดยระยะเวลาที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส ประมาณ 20 – 30 นาที ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับการลงรายละเอียดของสัญญาก่อนสมรสว่าผู้ร้องทั้งสองฝ่ายจะให้มีการบันทึกมากน้อยเพียงใด

จดทะเบียนสมรสเท่าเทียมมีค่าธรรมเนียมหรือเปล่า

กรณีจดทะเบียนสมรสในสำนักทะเบียน ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ส่วนการจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน เสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 200 บาท โดยผู้ขอต้องจัดยานพาหนะให้นายทะเบียนด้วย ถ้าหากผู้ขอไม่จัดพาหนะให้ ผู้ขอต้องชดใช้ค่าพาหนะให้แก่นายทะเบียนตามสมควร สำหรับการจดทะเบียนสมรส ณ สถานที่สมรส ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้มีขึ้น เสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 20 บาท และการคัดสำเนา ค่าธรรมเนียมฉบับละ 10 บาท

จดทะเบียนสมรสเท่าเทียมแล้วมีสิทธิอะไรบ้าง

1.คู่สมรสมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
2. คู่สมรสมีสิทธิในการใช้ชื่อสกุลของคู่สมรสอีกฝ่าย
3. มีสิทธิจัดการทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส หรือที่เรียกว่าสินสมรสร่วมกัน
4. มีสิทธิรับมรดกของคู่สมรสเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิตไปก่อน มีสิทธิรับเงินจากทางราชการ หรือนายจ้าง เช่น กรณีที่คู่สมรสตายเพราะปฏิบัติหน้าที่ หรือจากการทำงาน (บำเหน็จตกทอด) หรือ การรับเงินสงเคราะห์บุตรตามกฎหมายแรงงาน 4. มีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทนจากผู้ที่ทำให้คู่สมรสของตัวเองเสียชีวิตได้
5. สามารถเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ตามกฎหมาย เมื่อพบว่าคู่สมรสมีชู้ ก็สามารถเรียกค่าเสียหายได้ทั้งจากคู่สมรสและชู้
6. ได้รับการลดหย่อนค่าภาษีเงินได้ตามเงื่อนไขการลดหย่อนภาษี
7. คู่สมรสที่ทำความผิดระหว่างกัน เช่น สามีขโมยเงินภรรยา ภรรยาบุกเข้าบ้านสามี ผู้ที่ทำผิดไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย
8. การจดทะเบียนสมรสทำให้คู่สมรสฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายคู่สมรสของตัวเองได้ เช่น หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งถูกโจรปล้น คู่สมรสอีกฝ่ายก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแทนได้

จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม

BUGABOONEWS
ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพมหานคร

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark