ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เช้านี้ที่หมอชิต - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน

บ่ายวานนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ไปยังท่าวาสุกรี เพื่อประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ จากนั้น ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเคลื่อนจากท่าวาสุกรี ตามชลวิถีท้องน้ำเจ้าพระยา ไปยังท่าวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ด้วยทรงมีพระราชศรัทธาและทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนา และให้พสกนิกรได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและถวายพระพรชัยมงคล ทั้งยังได้ร่วมชื่นชมความงดงามของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณีอันกอปรด้วยศาสตร์และศิลป์ อันเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติ ถึงความงดงามตระการตาของขบวนเรือในพระราชพิธีที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และจัดขึ้นอย่างสง่างามสมพระเกียรติ

สำหรับขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ประกอบด้วยเรือพระราชพิธี 52 ลำ จัดขบวนเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ความยาว 1,280 เมตร ความกว้าง 90 เมตร ใช้กำลังพลประจำเรือ รวม 2,412 นาย

ริ้วสายนอก ประกอบด้วย เรือดั้ง 22 ลำ และเรือแซง 6 ลำ ริ้วสายในขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่นเป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ ได้แก่ เรืออสุรวายุภักษ์และเรืออสุรปักษี เรือกระบี่ปราบเมืองมารและเรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือพาลีรั้งทวีปและเรือสุครีพครองเมือง เรือครุฑเหินเห็จ และเรือครุฑเตร็จไตรจักร และปิดท้ายริ้วสายในด้วย เรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก รวม 14 ลำ

ส่วนริ้วสายกลาง ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรืออัญเชิญผ้าพระกฐิน เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งสำรอง มีเรืออีเหลืองเป็นเรือกลองนอก เรือแตงโมเป็นเรือกลองใน ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ พร้อมด้วยเรือตำรวจ และเรือแซง รวม 10 ลำ โดยมีการขับกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ ประกอบขบวนเรือ ฯ ประพันธ์โดย พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย รวม 4 บท คือ บทสรรเสริญพระบารมี บทชมเรือกระบวน บทบุญกฐิน และบทชมเมือง

การจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธีมีลักษณะดุจดาวล้อมเดือน คือ เรือพระที่นั่งเป็นเดือน เรืออื่นในขบวนหน้า ขบวนแซง และขบวนหลัง เป็นดาวล้อมอยู่ทุกด้าน เพื่อให้เรือพระที่นั่งมีความสง่างามสมพระเกียรติ การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำที่มีมาแต่โบราณ มีหลักฐานชัดเจนตั้งแต่สมัยอยุธยา และในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคมาแล้วหลายครั้ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค รวม 17 ครั้ง และในรัชกาลปัจจุบัน มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2 ครั้ง ครั้งแรกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 จากท่าวาสุกรี ไปยังท่าราชวรดิฐ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ส่วนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 และเป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ครั้งแรกในรัชกาล

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark