ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ไร้เงา บอสพอล เข้าพบ สคบ.

ห้องข่าวภาคเที่ยง - "บอสพอล" ไม่มาตามนัด ส่งตัวแทนโทร.มาแจ้ง สคบ. บอกเหตุผลว่าไม่สะดวก งานนี้ สคบ.ไม่เอาไว้ เตรียมแจ้งความขอออกหมายจับ

ไร้เงา "บอสพอล" เข้าพบ สคบ.
วันนี้ "บอสพอล" มีหมายเรียกให้เข้าพบเจ้าหน้าที่กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรง และตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.นัดหมายเวลา 10.00 น. กระทั่ง 11.00 น. ผู้สื่อข่าวมาเฝ้ารอตั้งแต่ลิฟท์ทางขึ้น ก็ไร้เงา "บอสพอล" หรือตัวแทนเดินทางมา

ล่าสุด นายจิติภัทร์ บุญสม ผอ.กองคุ้มครองผู้บริโภค ด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ออกมาพบให้ข้อมูลผู้สื่อข่าว โดยบอกเพียงสั้น ๆ ว่า ทนายฝั่ง "บอสพอล" โทร.มาแจ้ง ขอเลื่อนเวลาเข้าพบเป็นช่วงบ่าย หรือไม่ก็อาจจะขอเวลาอีก 15 วัน เนื่องจากติดขัดด้วยเหตุผลส่วนตัว จึงไม่สามารถมาให้ข้อมูลแก่ สคบ.ได้

แต่ทาง สคบ.ไม่อนุญาต ขีดเส้นตายต้องมาตามนัดเท่านั้น ซึ่งหากไม่มา ทาง สคบ.จะแจ้งความดำเนินคดี ในข้อหาขัดหมายเรียก เพื่อให้ตำรวจออกหมายจับต่อไป ส่วนสามดาราบอสใหญ่ สคบ.มีหมายเชิญ เรียกมาสอบปากคำวันพรุ่งนี้

ส่วนประเด็นที่ขอให้เพิกถอนใบอนุญาตธุรกิจ "ดิไอดอนกรุ๊ป" บ่ายวันนี้ (16 ต.ค.) จะมีการหารือกันภายใน ว่าจะให้ธุรกิจของ "ดิไอคอนกรุ๊ป" เดินหน้าต่อหรือไม่ ? ส่วนโล่รางวัล ที่ "บอสพอล" เคยได้รับจาก สคบ.ในปี 2565 จะออกหนังสือ เพื่อขอยึดโล่รางวัลคืน

อายัดทรัพย์บอส "ดิไอคอนกรุ๊ป"
ส่วนเรื่องที่เมื่อวานนี้ ปปง. เผยแพร่เอกสารประชาสัมพันธ์ เรื่องคำสั่งอายัดทรัพย์ผู้ต้องหา 4 คน ที่ยังไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดี ดิไอคอนกรุ๊ป มีทรัพย์สิน รวม 11 รายการ รวมประมาณ 125 ล้านบาท มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน

แล้วปรากฎมีชื่อออกมา 4 คน 2 คน เราเคยได้ยินชื่อกันอยู่แล้ว คนหนึ่ง คือ "บอสพอล" และอีกคนคือ "กันต์ กันตถาวร" พิธีกรชื่อดัง อีก 2 ชื่อ ไม่คุ้นเคย จากการตรวจสอบสรุปแล้ว อีก 2 คนที่เปิดเผยชื่อ ชื่อหนึ่งเป็นชื่อเก่าของ "บอสพอล" และอีกคนเป็น "อดีตภรรยา" ของ "บอสพอล"

ทีนี้หากสมมติว่า ทั้ง 3 คนนี้ จะแก้ต่างว่า ทรัพย์สินที่อายัดไปนั้น ไม่ได้มาจากการกระทำผิด ทำได้โดยการนำเอกสารหลักฐาน เข้าไปชี้แจงกับ ปปง. เพื่อยืนยันว่าทรัพย์สินไหน รายการใดไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ได้มาโดยสุจริต หากพิสูจน์ได้ ก็สามารถถอนการอายัดได้เช่นกัน

ส่วนในการประชุมของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เมื่อวานนี้ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดี DSI มอบหมายให้ กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ประสาน บก.ปคบ. นำข้อเท็จจริงทางคดีมาสอบสวน พร้อมกับวางแนวทางช่วยผู้เสียหายแบบคู่ขนาน ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สั่งการให้ประสาน สภาทนายความ ช่วยดูแลคดีแพ่งแบบกลุ่ม เพื่อเรียกค่าเสียหายคืนให้กับผู้ได้รับผลกระทบต่อไป ซึ่งก็ดำเนินการไปแล้ว รอติดตามผล

งัด พ.ร.ก.กู้เงินฯ เอาผิด "ดิไอคอนกรุ๊ป"
มาดูข้อกฎหมายอีกฉบับ เมื่อวานหลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอก สามารถใช้ พ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เอาผิดได้ ด้วย เดี๋ยวไปดูรายละเอียดกฎหมายนี้กันอีกที

เมื่อวานนี้ หลังนายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงการคลัง ไปดูปมปัญหา บริษัทดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ว่ามีข้อกฎหมายใดสามารถเอาผิดได้บ้าง ปรากฎ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ออกมาบอกว่า

เมื่อดูลักษณะของธุรกิจ เข้าข่ายลักษณะความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 341 และมาตรา 342 ของกระทรวงการคลังหรือไม่นั้น จะต้องนำไปเทียบกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 หากเข้าข่ายความผิดของกฎหมายนี้ ย้ำว่าข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ ต้องเข้าข่ายทั้ง 3 ข้อ คือ 1.โฆษณาให้บุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปรับรู้หรือไม่ 2.จ่ายผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้หรือไม่ และ 3.ผลประโยชน์จากกิจการนั้นมีมากเพียงพอที่นำมาชำระหรือใช้จ่ายได้หรือไม่

ซึ่งต้องดูสำนวนของตำรวจก่อน ไม่ใช่จู่ ๆ กระทรวงการคลัง จะไปเดินเรื่องฟ้องร้องในทันที ทั้งหมดเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม กฎหมายฉบับนี้ก็ถูกนำมาใช้งาน ซึ่งที่ผ่านมา กฎหมายฉบับนี้ ก็ลงดาบผู้กระทำผิดในคดีต่าง ๆ ซึ่งเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ที่โด่งดังในอดีตอย่างคดี "แม่ชม้อย" และกลุ่มขายตรง ที่ถูกเจ้าทุกข์ฟ้องร้อง

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark