ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

ไฟไหม้รถบัส ตรวจสภาพรถทิพย์ต้องมีบทลงโทษ


ไฟไหม้รถบัสไฟไหม้ เพลาหักจากน้ำหนักเกิน หากมีตรวจสภาพรถทิพย์ ต้องมีบทลงโทษ ใครทำอะไรไว้ก็ต้องรับผิดชอบ กมธ.คมนาคม วุฒิสภา ยัน ไม่ปล่อยไปแน่นอน

วันนี้ (7 ต.ค.67) นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหากรณีไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา ว่า เบื้องต้นมีการชี้แจงสาเหตุรวมถึงหารือแนวทางในการแก้ไข โดยในประเด็นแรกจะมีการตรวจเชื้อเพลิงที่ใช้กับรถโดยสาร และใช้มาตรการเชิงรุก กรมการขนส่งทางบก ก็เห็นตรงกันว่า จะใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสในการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยให้สูงขึ้น ให้ปลอดภัยมากขึ้น เพื่อลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น

ส่วนชนิดชองเชื้อเพลิง หากเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามมาตรฐานจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่หากมีการดัดแปลงหรือเปลี่ยนสภาพที่ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน กรมการขนส่งทางบก ต้องมีการลงโทษให้หนัก เช่น ยกเลิกใบอนุญาตประกอบการ ซึ่งรถในลักษณะดังกล่าว ควรมีถังก๊าซประมาณ 5-6 ถัง ขึ้นอยู่กับสภาพของรถ

จากการตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้ พบว่าเพลาหัก แต่การตรวจสอบของกองพิสูจน์หลักฐาน เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเกิดจากน้ำหนักเกิน ส่วนตัวท่อที่หลุดออกมานั้น ผลการสอบสวนในเบื้องต้นยังไม่ออกมา ยืนยันว่า จำนวนคนจะต้องสอดคล้องกับจำนวนที่จดทะเบียน 

ส่วนกรณีการเปรียบเทียบรูปรถและประตูฉุกเฉินด้านนอกนั้น กมธ.มองว่า การติดตั้งในลักษณะดังกล่าวที่อยู่สูงถึง 2 เมตร อาจจะต้องมีการปรับให้คนภายนอกสามารถเปิดได้ ซึ่งควรจะมีความสูงอยู่ที่ 1.2-1.5 เมตร หากเกิดอุบัติเหตุ บุคคลภายนอกที่พบเห็นจะได้สามารถช่วยเหลือได้ทันที

สำหรับอายุการใช้งานของรถบัสที่มีข้อแตกต่างจากรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไป กมธ.เห็นว่า รัฐควรกำหนดกรอบระยะเวลาให้ชัดเนื่องจากข้อมูลที่ได้รับ รถบัสคันดังกล่าวมีการใช้งานมาแล้ว 54 ปี รวมถึงมีการเปลี่ยนตัวถังด้วย แม้สภาพภายนอกจะดูใหม่ แต่อาจจะมีอุปกรณ์บางส่วนไม่ได้รับการซ่อม รวมถึงการตรวจติดตามทุกเดือน และติดตามเพื่อตรวจสอบว่ามีการดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงสภาพภายหลังการตรวจหรือไม่

ขณะที่ กมธ. และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนมูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย เห็นตรงกันว่า ความปลอดภัยซื้อไม่ได้ด้วยราคา แต่ด้วยงบประมาณที่มีข้อจำกัด ในส่วนของการว่าจ้าง อาจจะต้องมีการปรับมาตรฐาน ซึ่งอาจจะลดลงมาคนละครึ่งกับผู้ประกอบการ ระหว่างราคาและกิโลเมตรที่จะวิ่ง และต้องมีการแยกประเภทนักเรียน ว่าแต่ละช่วงวัยควรใช้เวลาและระยะทางเท่าไหร่ รวมถึงการซ้อมวิธีการเอาตัวรอด และวิธีปฏิบัติในสถานการณ์ฉุกเฉิน

สำหรับข้อเสนอที่ได้ในวันนี้ จะมีการรายงานผลไปทั้งทางสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลต่อไป วันนี้เราจะไม่โทษกัน เพียงแต่วันนี้ใครทำอะไรไว้ก็ต้องรับผิดชอบ เหตุการณ์นี้อาจไม่ได้เกิดจากช่องโหว่ทางกฎหมาย ซึ่งครอบคลุม 80-90% แต่อาจมีช่องโหว่ของการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามกฎข้อบังคับ ยืนยันว่า ไม่ปล่อยเรื่องนี้แน่นอน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark