พายุซูลิกเข้าไทย เกิดเมฆอาร์คัสที่บ้านด่าน ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
พายุซูลิกเข้าไทย เคลื่อนปกคลุมภาคอีสาน เกิดเมฆอาร์คัสที่บ้านด่าน ต.ด่าน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ อุตุฯ เตือน 48 จังหวัดรับมือฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน อันดามันและอ่าวไทยตอนบน บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร
วันนี้ (20 ก.ย.67) สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ ประเทศไทย เปิดเผยภาพสัญญาณพายุฝน เกิดเมฆอาร์คัสที่บ้านด่าน ตำบลด่านอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
สำหรับเมฆอาร์คัส ก่อนฝนตก เป็นเมฆเกิดจากลมที่หอบนำเอาความชื้นในชั้นบรรยากาศ และฝุ่นละอองในอากาศพัดมารวมตัวกัน จนทำให้เกิดเป็นกลุ่มเมฆอาร์คัส ซึ่งน้ำหนักของเมฆอาร์คัสจะหนักกว่าเมฆฝนแบบปกติ
ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง พายุ “ซูลิก” ฉบับที่ 13 เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันนี้ พายุดีเปรสชัน “ซูลิก” ได้เคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณอำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม หรือที่ละติจูด 17.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 104.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในช่วงบ่ายวันนี้
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากมีดังนี้ ในวันที่ 20 กันยายน 2567
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย