ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ล่ม เคาะขึ้นค่าแรงวันละ 400 บาท ทั่วประเทศ

เช้านี้ที่หมอชิต - รอเก้อ! กับตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน เมื่อการประชุมบอร์ดค่าจ้าง ไม่ครบองค์ประชุม ขาดตัวแทนฝั่งนายจ้างไป ทำให้ต้องรอลุ้นอีกที 20 กันยายนนี้ 

ล่ม เคาะขึ้นค่าแรงวันละ 400 บาท ทั่วประเทศ
 การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อเคาะค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ก็ล่ม และรอต่อไปอีก เพราะวานนี้ (16 ก.ย.) ตัวแทนฝั่งนายจ้าง ไม่มีใครเข้าประชุม เนื่องจากติดภารกิจ ทำให้ไม่ครบองค์ประชุมไตรภาคี จึงสรุปการขึ้นค่าจ้างตามตัวเลขข้างต้นไม่ได้

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า ตั้งแต่เป็นปลัดกระทรวงฯ ก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน แต่ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ต้องจัดประชุมใหม่ภายใน 15 วัน จึงกำหนดให้ 20 กันยายนนี้ ร่วมเคาะตัวเลขกันอีกรอบ

จึงอยากให้นายจ้างเข้าใจ เพราะก็ได้เตรียมมาตรการเพื่อช่วยเหลือฝั่งนายจ้างไว้หลายแนวทาง อาทิ มาตรการช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ลดหย่อนภาษี และลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม

ซึ่งผลหารืออาจจะปรับขึ้นถึง 400 บาท หรือไม่ถึง 400 บาทต่อวัน ก็ได้ แต่มีจังหวัดที่เสนอปรับค่าจ้างเกินเกณฑ์ 400 บาทต่อวัน แล้ว อาทิ สมุทรปราการ ที่เสนอขึ้นค่าจ้าง 410 บาท และภูเก็ต

ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายกังวล การขึ้นค่าแรงจะเอื้อประโยชน์ต่อแรงงานเพื่อนบ้านมากกว่า ปลัดฯ ก็ยืนยันไม่จริง แรงงานไทยย่อมได้ประโยชน์สูงสุด

เพราะเมื่อเทียบสัดส่วนแรงงานไทย มีมากกว่าแรงงานต่างด้าวถึง 3 ต่อ 1 เช่น ข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม รายงานว่า หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน 400 บาท ในธุรกิจขนาดใหญ่ แรงงานไทยจะได้ประโยชน์ประมาณ 3 ล้านคน ส่วนแรงงานต่างชาติประมาณ 1 ล้านคน

ด้าน นายวีรสุข แก้วบุญปัน ตัวแทนฝั่งลูกจ้าง กล่าวว่า การที่ฝั่งนายจ้างไม่เข้าประชุม คาดเป็นเกมการต่อรอง ไม่ใช่มาจากเรื่อง "สูตรการคำนวณ" ค่าแรง เพราะมีการตกลงก่อนหน้านี้แล้ว

พิพัฒน์ เดินหน้าค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ
ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวย้ำว่า ขอให้ตัวแทนฝั่งนายจ้างมาร่วมการประชุม 20 กันยายนี้ เพื่อให้ครบไตรภาคี หากไม่มาก็จะขอมติ เพื่อเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป

ตามกฎไตรภาค ที่ประชุมสามารถยึดมติ 2 ใน 3 โหวตปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ได้ทันที สำหรับไทม์ไลน์การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท จะเรียกประชุมครั้งที่ 2 วันที่ 20 กันยายน 2567 หลังจากนั้นจะเข้านำเข้าสู่การประชุม ครม. วันที่ 24 กันยายน 2567 และสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ก็จะถือว่าสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark