ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

อธิบดีอัยการ สคช. เตือนลักทรัพย์-หลอกรับบริจาคช่วงน้ำท่วม ซ้ำเติมชาวบ้านโทษหนักขึ้น


“โกศลวัฒน์” อธิบดีอัยการ สคช. กางข้อกฎหมาย กำราบเเก๊งเเมวน้ำลักทรัพย์ และมิจฉาชีพหลอกรับบริจาคช่วงน้ำท่วม ซ้ำเติมชาวบ้าน อัตราโทษหนักขึ้น  เผย สคช.เตรียมเเผนช่วยเหลือคดีหนี้สินให้ชาวบ้านหลังน้ำลด

วันนี้ (13 ก.ย.67) นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี ( สคช.) กล่าวถึงกรณีแก๊งแมวน้ำซ้ำเติมผู้ประสบภัย ขโมยของช่วงน้ำท่วมในแม่สาย จังหวัดเชียงราย รวมถึงมิจฉาชีพสมอ้างที่เปิดรับบริจาคว่า ตนขอเตือนผู้ที่คิดจะกระทำผิดในช่วงภัยพิบัติที่เป็นการซ้ำเติมพี่น้องประชาชนให้เลิกทำเสีย เพราะจะรับโทษหนักกว่าปกติ

โดยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท อันนี้คือลักทรัพย์ธรรมดาปกติ เเต่ช่วงภัยพิบัติ หรือที่เรียกว่าลักทรัพย์ฉกรรจ์ จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (2) ซึ่งบัญญัติไว้ว่ากระทำในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกัน หรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใด ๆ

เเละ มาตรา 335 (12) ลักทรัพย์ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม หรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

มาตรา 335 วรรคสองยังระบุไว้อีกว่า ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท เเละถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกล หรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท จะเห็นได้ว่ามีอัตราโทษที่หนักกว่าลักทรัพย์ธรรมดาอยู่มาก

ส่วนพวกต้มตุ๋มเปิดรับบริจาคปลอม เท่าที่ทราบอาจจะไม่มีตัวบทกฎหมายเพิ่มโทษเป็นการเฉพาะ เเต่การที่ศาลจะลงโทษหนักขึ้นได้มีอยู่ 2 อย่างคือเพิ่มโทษโดยตัวกฎหมาย เเละอย่างที่สองคือ อัยการสามารถบรรยายฟ้องได้ว่า พฤติกรรมของจำเลยเป็นภัยต่อสังคมอย่างร้ายเเรงในช่วงภัยพิบัติ อัยการเราจะบรรยายฟ้องว่าการกระทำเป็นการซ้ำเติมประชาชน ขอให้ศาลลงโทษสถานหนัก ซึ่งที่ผ่านมาเราเคยทำมาเเล้ว เเละศาลก็ลงโทษสถานหนักตามที่อัยการบรรยายฟ้องไป

ในสถานการณ์น้ำท่วมนี้ ตนเเละอัยการใน สคช.ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือกฎหมายประชาชน ก็มีความเป็นห่วงประชาชน เเละในบทบาท สคช.เรายังไม่สามารถเข้าไปช่วยได้เต็มที่เหมือนพวกกู้ภัยที่มีความพร้อม ซึ่งเราได้ประชุมเตรียมการไว้เเล้วถึงเหตุการณ์ภายหลังน้ำลด ที่จะเกิดปัญหาตามมา เช่น เกิดพื้นที่เกษตรเสียหาย ไม่มีเงินชำระหนี้ กลายเป็นปัญหาหนี้สินต่อเนื่อง ตรงนี้อัยการ สคช.ยินดีจะเข้าไปเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ยหาทางออกให้ ชีวิตไม่เห็นหนทาง เพราะไม่มีประสบการณ์ขอให้เข้ามาหาเราได้เลย เราจะช่วยหาทางออก

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark