ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

จบด้วยดี แม่ลูก 4 ชำระเงินเจ้าของหอพัก

เช้านี้ที่หมอชิต - จากเรื่องราวดรามา ที่แม่เลี้ยงลูก 4 คน ต้องถูกดำเนินคดีเพราะลูกอายุ 7 ขวบ ไปหยิบเอากระแป๋งของผู้เสียหาย และทรัพย์สินอื่น ๆ ไป ทั้งสองฝ่ายได้ไปเจอหน้าและไกล่เกลี่ยกัน สุดท้ายจบลงด้วยดี

ที่เรานำเสนอข่าวไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากชนวนเหตุว่าเป็นเพราะเด็กอายุ 7 ขวบ ไปหยิบเอา "กระแป๋ง" ราคา 45 บาท ไปตอนย้ายห้อง แต่เจ้าของห้องตรวจสอบแล้วเจอว่าไม่ได้เอาไปแค่นั้น ยังมีทรัพย์สินอื่น ๆ อีก 2 อย่างด้วย จึงแจ้งความเอาผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งทางฝั่ง "แม่เลี้ยงเดี่ยว" ก็ต้องใช้คำว่าสุดจะน่าสงสาร ไม่มีเงินติดตัวแล้วจริง ๆ ตอนที่ไปเจอตำรวจยังต้องตัดใจขายหม้อหุงข้าว เพื่อหาเงินไปเจอ เพราะถูกออกหมายเรียกแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ก็จะมีดรามาซ้อนอีกว่าตำรวจออกหมายเรียก 2 ครั้ง ในวันเดียวได้หรือ

เคลียร์กันทีละเรื่อง เรื่องไกล่เกลี่ยคดี ก็มีทั้ง "กุ๊กกิ๊ก" แม่เลี้ยงเดี่ยว, "เบ" เจ้าของหอพัก, ตัวแทนจากมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม, ตำรวจ และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดปทุมธานี ร่วมกันไกล่เกลี่ยคดีนี้

โดยฝ่ายของ "กุ๊กกิ๊ก" ยินยอมชดใช้ค่าเสียหาย 2,973 บาท ประกอบด้วย "ค่าเช่าห้อง" คงค้างหลังหักเงินประกัน, ค่าทรัพย์สินที่นำไป และค่าเดินทางของเจ้าของหอพัก ที่ต้องเดินทางจากจังหวัดชัยภูมิ ไปติดตามคดีที่ สภ.ปากคลองรังสิต 3 ครั้ง โดยค่าเสียหายนี้ ทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดปทุมธานี จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ เนื่องจาก "กุ๊กกิ๊ก" มีฐานะยากจน ส่วน "เบ" ที่เป็นผู้เสียหาย ก็ยืนยันว่าจะถอนแจ้งความทั้งคดีอาญา และคดีแพ่ง

ประเด็นต่อมา ตำรวจออกหมายเรียก 2 ครั้ง ในวันเดียวปกติไหม? ทำได้ไหม? เรื่องนี้ พันตำรวจโท เนติ รุ่งฟ้าแสงอรุณ รองผู้กำกับการสอบสวน สภ.ปากคลองรังสิต ชี้แจงว่าตามกฎหมายแล้วทำได้ เพราะไม่ได้ห้าม แต่ที่อยากให้สังคมเข้าใจก่อน คือ เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาตำรวจพยายามเรียกให้คู่กรณีมาไกล่เกลี่ยแล้ว แต่ไม่ยอมมาพบ คดีเลยล่าช้าจนมาถึงเดือนสิงหาคม ส่วนหมายเรียกที่ออกเป็นเรื่องทางธุรการ ที่เรียกให้มาพบภายใน 7 วัน หมายเรียกครั้งแรก จึงเรียกให้มาพบวันที่ 8 สิงหาคม และหมายเรียกครั้งที่ 2 เรียกให้มาพบวันที่ 14 สิงหาคม จากนั้นตำรวจจังได้ส่งฟ้องผู้ต้องหาต่ออัยการตามขั้นตอน

สำหรับคดีนี้สามารถยุติได้ด้วย พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ย โดยต้องได้รับความผิดยอม และร่วมมือจากคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ที่จะไกล่เกลี่ยด้วย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark