ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

เปิดหลักฐาน รุกป่าต้นน้ำเขานาคเกิด

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ลงใต้ไปที่จังหวัดภูเก็ต พบหลักฐานพระใหญ่ บนเขานาคเกิด สร้างในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หลังกรมป่าไม้อนุญาตให้วัดกะตะ ใช้พื้นที่เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ก่อนยื่นขออนุญาตใหม่เมื่อปี 2566 ส่วนพื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกเพิ่มเติม 4 ไร่ ติดตามจากรายงาน คุณเตชะวัฒน์ สุขรักษ์

กลายเป็นโศกนาฎกรรม ดินโคลนถล่มทับบ้าน 50 หลัง เชิงเขานาคเกิด ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม มีผู้เสียชีวิต 13 คน ต้นทางดินโคลน จากยอดเขานาคเกิด

เมื่อวัวหายก็ล้อมคอก เพราะพื้นที่ต้นเหตุอยู่ในเขตป่าไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 เนื้อที่ 4 ไร่เศษ ที่ไม่มีการอนุญาตใช้พื้นที่ แต่กลับมีการบุกรุก ซึ่งกรมป่าไม้ เข้าปักป้ายตรวจยึดพื้นที่ 5 ไร่ 19 ตารางวา

จากข้อมูล มีการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขานาคเกิด ในยุคนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นอธิบดีกรมป่าไม้ เนื้อที่ 15 ไร่ ตามมาตรา 19 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เพื่อประโยชน์ในการควบคุม ดูแล รักษาหรือบำรุงป่าสงวนแห่งชาติ

โดยอนุญาตให้ วัดกิตติสังฆาราม หรือ วัดกะตะ ใช้ประโยชน์ดูแลป่า ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา แต่ความเป็นจริง กลับสร้างพระใหญ่ ตั้งแต่ปี 2545 โดยไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้าง

ส่วนพื้นที่ 4-5 ไร่ ในเขตป่าไม้ ถูกปรับพื้นที่ และสร้างอาคารอเนกประสงค์ แล้วเสร็จช่วง​ พ.ศ.2556-2558 ทั้งที่ยังไม่มีการขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ และเป็นป่าต้นน้ำ หรือพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่ 1A 1B ห้ามก่อสร้างอาคาร

กระทั่งพระใหญ่สร้างแล้วเสร็จผ่านมา 21 ปี เพิ่งมีการขออนุญาต โดยมีการตรวจสอบพื้นที่เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566

ซึ่งเจ้าหน้าที่ร่วมกันตรวจสอบสภาพป่า เนื้อที่ 19 ไร่ 4 งาน 79 ตารางวา แยกเป็นอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด 15 ไร่ และอยู่ในป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 เนื้อที่ 4 ไร่ 75 ตารางวา

และผู้นำตรวจสอบ ยืนยันว่า การดำเนินกิจการ จะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อราษฎร หากมีผลกระทบหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎร ผู้ขออนุญาตยินดีที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเองทุกกรณี

และผู้นำตรวจสภาพป่ายืนยันว่า ขนาดของพื้นที่ที่ขอเข้าทำประโยชน์เนื้อที่ 15 ไร่ ตามที่ได้ยื่นขออนุญาตนั้นมีขนาดที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์แล้ว

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark