ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

บ.เอกชน ส่งเอกสารชี้แจงปมปลาหมอคางดำแพร่พันธุ์

เช้านี้ที่หมอชิต - เรื่องปลาหมอคางดำ ก็เดือดสภาฯ ทั้งในการประชุม คณะอนุ กมธ. อว. การประชุมสภาฯ และลามไปถึงห้องอาหาร ส่วนปมสงสัยโดยเฉพาะการแพร่พันธุ์ขยายวง ที่หวังว่าบริษัทเอกชนรายใหญ่จะไขความกระจ่างก็เป็นเพียงเอกสารชี้แจงที่ไม่มีคำตอบทั้งหมด แต่กลับเพิ่มมาอีก 2 ตัวละครใหม่ หนึ่งในนี้เป็นอธิบดีกรมประมงคนปัจจุบัน

บ.เอกชน ส่งเอกสารชี้แจงปมปลาหมอคางดำแพร่พันธุ์
เริ่มที่เดือดแรก บริษัทเอกชนรายใหญ่ก็เท ไม่มาชี้แจงต่อ คณะอนุ กมธ. อว. สภาผู้แทนราษฎร เป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งนี้ให้เหตุผล ติดภารกิจ และส่งหนังสือ (ลงวันที่ 24 ก.ค.2567) จำนวน 3 หน้า กับเอกสารแนบ 1 แผ่น (รวม 4 แผ่น) แต่ละแผ่นมีรายละเอียดต่างกัน แต่เราจะโฟกัส 3 แผ่นสำคัญ คือ

แผ่นแรก : เป็นการตอบได้รับหนังสือ พร้อมไทม์ไลน์นำเข้าปลาหมอคางดำ

แผ่นที่ 2 : พูดถึงขั้นตอนยุติการทดลองโครงการวิจัยฯ ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นเตรียมพื้นที่ จนนำส่งลูกปลาดอง ส่งกรมประมง

และแผ่นที่ 3 : เป็นหนังสือขออนุญาตนำเข้าปลา ซึ่งมีไฮไลต์คือข้อมูลใหม่ที่เผยรายชื่อ 2 เจ้าหน้าที่ในขณะนั้น หนึ่งในนี้คือ "อธิบดีกรมประมง" คนปัจจุบัน อีกคนปิดชื่อไว้

"หมอวาโย" ชี้ อธิบดีกรมประมง รู้ข้อมูล บ.เอกชน นำเข้าปลาหมอคางดำ
ซึ่ง นายแพทย์ วาโย อัศวรุ่งเรือง สส. (บัญชีรายชื่อ) พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานฯ  ก็เผยถึงปมข้อมูลใหม่ ว่า ในช่วงที่บริษัทเอกชน ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ มีนักวิชาการเป็นนิติกร 7 ซึ่งก็คือ อธิบดีกรมประมงคนปัจจุบัน ดังนั้น อธิบดีฯ น่าจะทราบข้อมูลในขณะนั้น

จ่อใช้กฎหมายเรียกข้อมูล บ.เอกชน ปมปลาหมอคางดำ
ส่วนการประชุมครั้งนี้เมื่อบริษัทเอกชน ไม่มาชี้แจง ที่ประชุม จึงเสนอใช้มาตรการทางกฎหมายเรียกข้อมูล พร้อมไม่ปิดโอกาส ถ้าบริษัทเอกชนจะให้ข้อมูลก็ให้นัดหมายมาได้โดยพร้อมเปิดการประชุมพิเศษให้

จี้รัฐบาล หาตัวการปล่อยปลาหมอคางดำ หลุดลงแม่น้ำ
ส่วนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ก็มีญัตติของ สส.พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ ใจความสำคัญคือ จี้รัฐบาลเร่งหา "ตัวการ" ปล่อยปลาชนิดนี้หลุดลงแม่น้ำ พร้อมกับยก "สีธง" แสดงถึงการแก้ปัญหาปลา ถ้าไม่คิดแก้ให้ชักธงขาวยุบสภาไปเลย เพราะขณะนี้ปลาหมอคางดำแพร่พันธุ์ขยายลามไปถึง 17 จังหวัดแล้ว

เสิร์ฟเมนู "ปลาหมอคางดำทอด" ให้ สส.
และที่เดือดอีกในสภาฯ เมื่อ นายณัฐชา (สส. ก้าวไกล) นำปลาหมอคางดำทอดกรอบ ๆ 20 กิโลกรัม ไปส่งที่ห้องอาหาร สส. หวังให้เพื่อน สส. ๆ ได้ชิม จะได้รู้รสกลับไปบอกคนในพื้นที่ว่าปลาหมอคางดำกินได้ โดยจะขอถ่ายภาพไว้ด้วย

แต่เรื่องนี้รู้ถึงหู นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ จึงส่งเจ้าหน้าที่สกัดโดยให้ นายณัฐชา ขนปลาทอดทั้งหมดเอง และไม่ให้ถ่ายภาพ ทำเอา สส.กาย ของขึ้น ภาษาวัยรุ่นบอก "สส.วีนฉ่ำ"

พอเพื่อน สส. ไม่ได้กิน สส.ณัฐชา ก็นำปลาทอดทั้งหมดลงมาให้นักข่าว ลองชิม บอกว่า ชิมกันให้อิ่มหนำสำราญ และขอให้วิพากษ์วิจารณ์กันเต็มที่ พร้อมตัดพ้อ สภาฯ แห่งนี้ ไม่มีพื้นที่พอให้ สส. ทำหน้าที่

แต่ระหว่างนั้น นายอรรถกร ศิริลัทยากร  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ผ่านมา นักข่าวเลยชวนให้ นายอรรถกร ชิมด้วย แต่คำตอบคือ "ผมขอไม่กิน เน้นทำลาย" ก่อนขอตัวไปประชุม

บ.เอกชน เปิดไทม์ไลน์นำเข้าปลาหมอคางดำ
ทีนี้มาฝั่งบริษัทเอกชน ก็ร่อนหนังสือชี้แจงขั้นตอนการนำเข้าลูกปลาหมอคางดำ 2,000 ตัว จากประเทศกานา ถึงสื่อมวลชนละเอียดยิบ

เริ่มตั้งแต่วันนำเข้า 22 ธันวาคม 2553 ใช้เวลา 35 ชั่วโมง ถึงไทยจนเปิดกล่องเช็กที่ด่านกักกัน พบลูกปลาตายจำนวนมาก ก่อนนำที่เหลือไปฟาร์ม คัดแยกจนได้ปลาที่รอดเพียง 600 ตัว ก่อนจะนำไปลงบ่อฯ แล้วทยอยตายจนเหลือไม่พอวิจัย ก่อนคำปรึกษาเจ้าหน้าที่ หรือในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ได้คำตอบให้เก็บตัวอย่างปลา 50 ตัว ที่เหลือใส่ขวดโหลแช่ฟอร์มาลีน นำส่งกรมประมงไว้เป็นหลักฐาน

จากนั้น 6 มกราคม 2554 (สัปดาห์ที่ 3) ก็ยุติการวิจัยทั้งหมด และทำลายลูกปลาทั้งหมดตามขั้นตอนใน 24 ชั่วโมง หรือรวมเวลาลูกปลาชุดนี้มีชีวิตในไทยเพียง 16 วันเท่านั้น รวมทั้งยังระบุด้วยว่า วันนำส่งตัวอย่างปลาที่ กรมประมง มีเจ้าหน้าที่มารับ ไม่ได้ให้กรอกเอกสารใด ๆ จึงเข้าใจว่าสมบูรณ์แล้ว

ถัดมาอีก 7 ปี (หรือ ปี 2560) มีข้อมูลตรวจพบปลาหมอคางดำขยายพันธุ์ในพื้นที่สมุทรสงคราม กรมประมง จึงเข้าตรวจฟาร์มยี่สาร (อ.อัมพวา) ในพื้นที่เมื่อ 1 สิงหาคม 2560 ผลไม่พบปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยง ก่อนขอสุ่มตรวจในบ่อพักน้ำที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติแทน แต่ไม่เชื่อมถึงบ่อเลี้ยง

ดังนั้น ถ้าบ่อพักน้ำจะพบปลาชนิดเดียวกับแหล่งน้ำธรรมชาติจึงเป็นไปได้ พร้อมยืนยันบริษัทไม่มีการวิจัย หรือเลี้ยงปลาหมอคางดำอีกนับตั้งแต่มกราคมปี 2554

ปลาหมอคางดำ ยึดคลองบางขุนเทียน
ส่วน สภาฯ กทม. ก็นำสื่อฯ บุกพิสูจน์คลองบางขุนเทียน เขตจอมทอง ด้วยการทอดแห 3 จุด พบเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นปลาหมอคางดำทั้งตัวเล็ก ตัวใหญ่ เต็มไปหมด จึงย้ำชาวบ้านให้นำซากปลาไปฝังกลบ ไม่ทิ้งลงน้ำ ป้องกันการแพร่พันธุ์เพิ่ม และเตรียมนำปลาทำเมนูอาหารเสิร์ฟในที่ประชุมสภา กทม. เพื่อช่วยกันกำจัดสัตว์เอเลี่ยนสปีชีส์นี้ด้วย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark