คดี 6 ศพ ชาวเวียดนาม มุ่งปมเคลียร์หนี้
เช้านี้ที่หมอชิต - คดีการเสียชีวิตของชาวต่างชาติ 6 คน ในโรงแรมชื่อดังย่านราชประสงค์ ค่อย ๆ ถูกคลี่คลายความจริงออกมาบ้างแล้ว ไปดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ได้ข้อสรุป
อย่างแรก แพทย์นิติเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยืนยันว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 6 คน เสียชีวิตเพราะสารพิษไซยาไนด์ แน่นอน มีทั้งผลจากห้องปฏิบัติการ และอาการตกค้างของเม็ดเลือดที่ปรากฎบนศพ ซึ่งเป็นลักษณะของเซลล์ขาดออกซิเจน ฤทธิ์ของสารพิษไซยาไนด์
เพื่อความมั่นใจว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมด เสียชีวิตจากสาเหตุนี้จริง ๆ แพทย์ได้นำศพไปเข้าเครื่องตรวจ CT Scan ผลออกมาไม่พบร่องรอยการต่อสู้ หรือร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย ฉะนั้นตัดประเด็นนี้ทิ้งไป ก็จะเหลือผลการตรวจปลีกย่อย เช่นว่า แต่ละศพได้รับสารพิษมากน้อยแค่ไหน คาดว่าพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) จะได้คำตอบ
ส่วนเรื่องการพิสูจน์หาที่มาที่ไป ว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เมื่อวานนี้ในการแถลงข่าวที่ สน.ลุมพินี ตำรวจได้ไล่เรียงเหตุการณ์ทั้งหมดให้ฟัง เริ่มตั้งแต่ว่าแต่ละคนเดินทางเข้าไทยมาวันไหน เข้าพักโรงแรมเมื่อไร ใครพักอยู่ห้องที่เท่าไรบ้าง
ซึ่งแต่ละคนจะแยกย้ายกันไปอยู่ห้องตัวเอง จนมาถึงวันสุดท้าย 16 กรกฎาคม ก่อนจะเช็กเอาต์ ได้นัดมารวมกันที่ห้องพักเลข 502 ซึ่งก่อนจะกลับทุกคนได้ตกลงกินมื้อเที่ยงด้วยกัน
และก่อนหน้านั้น ยังได้สั่งเครื่องดื่มเป็นชาและกาแฟ มาให้ทุกคนกิน โดยมีพนักงานโรงแรมเตรียมบริการชงเครื่องดื่มให้ แต่ปรากฎว่าหนึ่งในผู้เสียชีวิต ได้ห้ามไว้แล้วบอกว่าตนเองจะเป็นคนทำเอง โดยตอนนั้นพนักงานโรงแรม ยังสังเกตเห็นว่าหญิงคนนี้มีสีหน้าเคร่งเครียด แม้จะได้ยินคำชมจากคนอื่น ๆ ว่าแต่งตัวสวยเป็นพิเศษก็ตาม
หลังจากพนักงานโรงแรมกลับออกไป ก็ไม่พบว่ามีใครเข้าไปในห้องนี้อีก จนกระทั่งสามีของหนึ่งในผู้เสียชีวิต แจ้งให้พนักงานไปดูที่ห้อง แล้วพบว่าทั้งหมดนอนล้มอยู่กับพื้น จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ และตำรวจเข้าตรวจสอบ พบว่ามี 2 คน ที่เสียชีวิต ในห้องนอน และ 4 คนเสียชีวิตในห้องโถง ลักษณะไม่รู้ตัวมาก่อนว่าถูกวางยาพิษ ล้มลงแล้วเสียชีวิตฉับพลัน
ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เปิดเผยผลการตรวจสอบวัตถุพยานสำคัญ ได้ข้อสรุปว่าแก้ว 5 ใบ ที่วางอยู่บนโต๊ะชา และ 1 ใบที่อยู่บนโต๊ะกินข้าว มีสารพิษไซยาไนด์ กาโลหะ 3 ใบ มี 1 ใบที่มีสารพิษปนอยู่ในน้ำ และในถุงชา และยังเจอถุงชาอีก 1 ถุง ในถังขยะที่มีสารพิษไซยาไนด์ด้วยเช่นกัน
ส่วนชนวนเหตุที่ทำให้เกิดการฆาตกรรม ตรงนี้แหละที่ยังมีความสับสนอยู่บ้าง เนื่องจากครั้งแรกที่มีการสอบปากคำพยาน 10 ปาก 1 ในนั้น พยานปากสำคัญมีลูกสาวของผู้ตาย ที่ให้ข้อมูลสำคัญว่า แม่ของตน "นางสาวธิ เหงียน" เป็นเจ้าหนี้ ที่นัดลูกหนี้ไปคุยกัน เพื่อตกลงปัญหาเรื่องเงินลงทุน 10 ล้านบาท ค่าก่อสร้างโรงพยาบาลในญี่ปุ่น ที่อีกฝ่ายไม่ยอมคืนเงินเสียที จนเกิดการฟ้องร้องกันขึ้น
ต้องบอกว่าแรงจูงใจนั้น ตำรวจยังให้น้ำหนักที่เรื่องนี้ จะสับสนกันก็ตรงที่ตัวละคร เพราะจริง ๆ แล้ว แม่ที่เธอว่าเป็นเพียงแค่ผู้ประสานงาน ส่วนคนที่นำเงินไปลงทุนจริง ๆ ชื่อว่า "เชอรีน" ที่ถือสัญชาติอเมริกัน
ซึ่งข้อมูลนี้ จะไปสอดคล้องกับที่สามีของ "นางสาวธิ เหงียน" เดินทางจากญี่ปุ่นมาให้ปากคำตำรวจตั้งช่วงเย็นวานนี้ ยืนยันว่าภรรยาตนเองไม่ใช่นายทุน ไม่ใช่เจ้าหนี้ แต่เป็นนายหน้าที่ติดต่อให้นายทุน ลงทุนกับ "เชอรีน"
พยานปากสำคัญอีกคน คือ "นายฟาน" ไกด์ของ "นางสาวธิ เหงียน" ตอนที่พาตัวมาสอบปากคำที่ สน.ลุมพินี ผู้สื่อข่าวพยายามเข้าไปสอบปากคำ ปฏิเสธที่จะตอบเรื่องอื่น ยอมรับแต่เพียงว่ารู้จักกับ "นางสาวธิ เหงียน" จริง
ส่วนข้อมูลทางการสืบสวน พบว่า "นายฟาน" ถูกว่าจ้างให้ไปซื้อยาชนิดหนึ่งชื่อว่า "ยางู หมายเลข 7" ได้เงินไป 11,000 บาท ซื้อเสร็จก็นำไปมอบให้กับคนที่ชื่อ "ไทเกอร์" ตำรวจจึงออกตามหาชายคนนี้ เพราะเชื่อว่าจะช่วยไขข้อข้องใจในคดีนี้ได้
ทีนี้มาย้อนมาดูต้นตอการเสียชีวิต ที่มีการระบุว่า เป็น "ไซยาไนต์" มาดูว่าตกลงสารนี้คืออะไร พิษถึงร้ายแรงขนาดนี้
เบื้องต้นไซยาไนด์ คือสารเคมีมีพิษร้ายแรง ออกฤทธิ์จนส่งผลให้ผู้ที่ได้รับสารนี้ เสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที โดยขึ้นอยู่กับปริมาณและความเข้มข้นที่ร่างกายได้รับ ซึ่งไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายได้หลายช่องทาง ทั้งสัมผัสทางผิวหนัง, สูดดม และการรับประทานเข้าไป
โดยอาการผู้ที่ได้รับไซยาไนด์ ก็ขึ้นอยู่กับบริเวณที่สัมผัสกับสารพิษ และปริมาณของสารพิษ มีอาการตั้งแต่ ระคายผิวหนัง, ผื่นแดง, บวมน้ำ, มึนงง, คลื่นไส้, เวียนศีรษะ, ลมชัก, หมดสติ, ไตล้มเหลว, หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจหยุดเต้น
สำหรับวิธีปฐมพยาบาล ถ้าทางผิวหนัง ให้รีบล้างผิวบริเวณที่สัมผัสกับสารฯ ด้วยสบู่ และน้ำทันที โดยให้น้ำไหลผ่านผิวหนัง อย่างน้อย 15 นาที และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล
กรณีไซยาไนด์หกใส่เสื้อผ้า ให้รีบถอดเสื้อผ้าออก หรือ ใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าส่วนนั้นออกไป ป้องกันไม่ให้สารพิษสัมผัสกับผิวหนัง
กรณีไซยาไนด์สัมผัสกับดวงตา ให้เปิดน้ำให้ไหลผ่านดวงตาอย่างน้อย 15-20 นาที และห้ามขยี้ตาเด็ดขาด
ส่วนผู้ที่ได้รับผ่านการสูดดม หรือ ผ่านการกินอาหาร ต้องไปพบแพทย์โดยเร็ว เบื้องต้นให้ย้ายร่างของผู้ป่วยออกมาอยู่ในจุดที่อากาศถ่ายเท เช่น ภายนอกอาคาร หรือใกล้ ๆ กับหน้าต่าง
ห้ามให้น้ำ หรือ อาหาร แก่ผู้ป่วยโดยเด็ดขาด หากผู้ป่วยหมดสติ หรือ ไม่หายใจ ให้ช่วยทำ CPR ทั้งนี้ ไม่ควรทำการผายปอด หรือ เป่าปาก เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับไซยาไนด์