ข่าวในหมวด ประเด็นร้อนออนไลน์

สาวป่วยซึมเศร้า ลาหยุดบ่อยบริษัทไม่โอเค ชาวเน็ตบอกเข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย


สาวป่วยซึมเศร้า ขอกำลังใจ ลาหยุดบ่อยจนบริษัทไม่โอเค งานนี้ชาวเน็ตบอกเข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย

กำลังเป็นที่สนใจในโลกออนไลน์ กับเรื่องราวที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่ง ได้นำมาโพสต์ในกลุ่ม "กลุ่มที่ไม่ว่าพิมพ์อะไรเราก็ให้กำลังใจในทุกเรื่องแบบงงๆอิหยังวะ" ที่มีสมาชิกกว่า 4.4 แสนบัญชี โดยเธอระบุข้อความ "ขอกำลังใจหน่อยค่ะ ปล.วันนี้เราลามาหาหมอเพราะหมอนัด ตอนนี้นั่งร้องไห้อยู่หน้าห้องตรวจ "

พร้อมเผยภาพแช็ตที่มีข้อความส่งมาว่า "น้อง XXX คะ พี่ได้ข่าวว่าน้องป่วยซึมเศร้า พี่ว่าน้องพักรักษาตัวก่อนไหม เพราะน้องหยุดบ่อยและมีผลกระทบกับเรื่องงาน ทำงานจป.มันต้องสตรอง ถ้าทำหยุดๆ แบบน้อง เจ้าของงานเขาไม่โอเคนะคะ เขาพูดหลายรอบละ

ถ้าน้องยังเป็นแบบนี้บริษัท XXX ก็เสียหายไปด้วย เราต้องการคนทำงานจริงจัง น้องกลับไปคิดนะคะว่าจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีไหม"



ซึ่งทันทีที่โพสต์ถูกเผยแพร่ในกลุ่ม สมาชิกหลายคนเข้ามาคอมเมนต์ โดยส่วนใหญ่ต่างมองว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย อาทิ

"อันนี้เห็นใจและเข้าใจทั้งสองฝ่ายนะคะ การหยุดบ่อยมันกระทบกับงานมากแค่ไหน สามารถ ทำงานชดเชยในวันหยุด หรือ นอกเวลางานเพื่อให้ไม่กระทบกับงาน และ แผนกอื่นได้มั๊ยค๊ะ ลองค่อยๆ คิดดูค่ะ"

"ใจเขา ใจเราครับ ทุกอย่างมีเหตุและผล เริ่มต้นใหม่ได้เสมอ"


 
นอกจากนั้นยังมีสมาชิกบางคนที่กำลังรักษาอาการป่วยซึมเศร้า ได้เข้ามาแชร์ประสบการณ์ที่เคยต้องออกจากงานในสาเหตุเดียวกัน พร้อมให้คำแนะนำด้วย โดยบอกว่า หากยังพอดูแลตัวเองได้ หรือมีครอบครัวช่วยเหลือ ให้กลับมารักษาตัวเองก่อน หรือบางท่านแนะนำให้หางานอิสระทำ จะได้มีเวลาไปหาหมอ

ขณะมีสมาชิกท่านหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตระบุว่า "เป็นจป.เหมือนกันค่ะ 1. การลาเป็นสิทธิ์ตามกฎหมายค่ะ 2.HRสามารถพิมพ์ให้ดีกว่านี้ค่ะ 3.ไม่ทราบว่าคุณจขพ.มีอายุงานเท่าไหร่คะ ถ้าผ่านงานแล้ว ก็ให้ HR ดำเนินตามกฎหมายค่ะ ไม่ใช่มาพิมพ์ข้อความแบบนี้"

หรืออีกท่านหนึ่งบอกว่า "พนักงานประจำ สิทธิลาป่วย 30วัน/ปี ลาตามสิทธิ์เขาไล่ออกไม่ได้ ป่วยเป็นซึมเศร้าก็นับค่ะ ปวดท้องเมนยังนับเลย แนบใบนัด ใบรับรองแพทย์ไปค่ะ ถ้าเขาจะให้ออกก็ให้เขาจ่ายชดเชยตามกฎหมาย เป็นกำลังใจให้ค่ะ"

อย่างไรก็ตาม หลายคนได้ให้กำลังใจเจ้าของโพสต์ ขอให้อาการดีขึ้นไวๆ แล้วค่อยเริ่มต้นใหม่





 
สำหรับอาชีพ จป. หรือ จป. วิชาชีพ ก็คือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานวิชาชีพ (Safety Officer) ซึ่งมีหน้าที่ในการคอยดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และให้ปฏิบัติไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเป็นตำแหน่งที่กฎหมายได้กำหนดบังคับให้นายจ้างต้องมี ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ, การไฟฟ้า, การประปา, โรงแรม, โรงพยาบาล, งานเหมืองแร่และถ่านหิน, ห้างสรรพสินค้า, สถาบันการเงิน

BUGABOONEWS
ขอบคุณข้อมูล/ภาพจาก กลุ่มที่ไม่ว่าพิมพ์อะไรเราก็ให้กำลังใจในทุกเรื่องแบบงงๆอิหยังวะ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark