ข่าวในหมวด ข่าวออนไลน์ News

ชาวนาลั่น โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ไม่ได้ช่วยชาวนาเลย เงินทองหายาก จะเอาเงินที่ไหนจ่ายให้ก่อน


ชาวนาลั่น โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ไม่ได้ช่วยชาวนาเลย เงินทองหายาก จะเอาเงินที่ไหนจ่ายให้ก่อน ตั้งคำถาม หากราคาปุ๋ยไม่ถึง 1,000 บาท เงินทอนอยู่ในกระเป๋าใคร

วันที่ 1 กรกฏาคม 2567 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ สอบถามความคิดเห็นของชาวนา หรือ เกษตรผู้ปลูกข้าว ในพื้นที่บ้านโนนรัง ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ถึงโครงการสนับสนุนการซื้อปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และสารชีวภัณฑ์ ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยให้เกษตรกรลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการปุ๋ยคนละครึ่งได้ผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ของ ธ.ก.ส. ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 67 ที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้นั้น โดยได้รับการเปิดเผยจาก นายวิรัตน์  อายุ 58 ปี ชาวบ้านโนนรัง ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธ์ข้าวชุมชนสาวะถี ว่า

จริงๆแล้วโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เริ่มต้นจากเกษตรกรรวมตัวกัน เข้าไปคุยกับกรมการข้าวเรื่องเงินสนับสนุนปุ๋ยสูตรแตกกอและสูตรแตกรวง การพูดคุยก็เข้าใจกันทุกฝ่าย จากนั้นกรมการข้าวก็ดำเนินการต่อ โดยนำเรื่องเข้ากรรมาธิการ แล้วก็ออกมาเป็นแบบนี้ ซึ่งไม่ตอบโจทย์เกษตรกร ยิ่งช่วงนี้เงินยากและยังจะให้เกษตรกรเอาเงินไปสมทบที่ ธกส. ก่อนถึงจะได้ปุ๋ย ถ้าเกษตรกรรายไหน ไม่มีเงินไปสมทบ จะทำอย่างไร สรุปเกษตรกรรายนั้นจะไม่ได้เงินช่วยเหลือจากโครงการนี้เลย

นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า โครงการนี้ยังมีอะไรหลายอย่างไม่ชัดเจน เหมือนเป็นการโยนหินถามทาง เป็นกระบวนการที่มีความยุ่งยาก เพราะตอนนี้เงินทองหายากเศรษฐกิจก็ไม่ดี เกษตรกรหาเช้ากินค่ำ มีหนี้สินครัวเรือน แล้วยังจะต้องหาเงินไปซื้อปุ๋ยอีก ถ้าจ่ายเป็นเงินมาช่วยเหลือเข้าบัญชีเกษตรกรเลย แล้วให้เกษตรไปเลือกซื้อปุ๋ยสูตรไหนก็เรื่องของเกษตรกร และร้านค้าปุ๋ยก็จะมีการแข่งขันกัน และลดราคาแข่งกันเป็นผลดีกับเกษตรกรมากกว่า แต่ถ้าจะช่วยเหลือแบบไร่ละ 500 บาท แต่ไม่มีค่าเก็บเกี่ยว ก็ไม่ต้องมาช่วยดีกว่า เพราะเงิน 500-1,000 บาทมีความหมายมากกับชาวนาถ้าไม่มีเงินตรงนี้มาช่วยเหลือ และการกำหนดราคาปุ๋ยมาไร่ละ 1,000 บาท ถ้าเกษตรกรซื้อปุ๋ยไม่ถึงกระสอบละ 1,000 บาท เงินที่เหลือ หรือเงินทอนที่เหลือจะเข้ากระเป๋าใคร เงินส่วนนี้จะไปอยู่ไหน ทางที่ดีโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรเหมือนเดิมให้เกษตรกรไปบริหารจัดการเองจะดีกว่า

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark