รัฐบาลเปิดทำเนียบฯ ยินดี เตรียมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030
ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง รัฐบาลเปิดทำเนียบฯ ยินดี LGBTQIAN+ หลังร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านสภาฯ ย้ำวันนี้ไม่มีฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน เตรียมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030
วันนี้ (18 มิ.ย.67) บรรยากาศงานเลี้ยงที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงความยินดีกับจุดเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียม ภายหลังร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม) ผ่านการพิจารณาในวาระ 2-3 วุฒิสภา สมัยวิสามัญ ซึ่งมีการจัดซุ้มนิทรรศการ บริเวณสนามหญ้า และปูพรมเป็นถนนสีรุ้งแห่งความเท่าเทียม รอบทางเดินหน้าตึกไทยคู่ฟ้า
นอกจากนี้ ภานในงานยังมีการแจกของที่ระลึกสีรุ้ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม ภายในงานให้ผู้เข้าร่วมงาน อาทิ ธงจิ๋ว พัด สายสะพาย และเข็มกลัด เป็นต้น ขณะที่จุดไฮไลต์เช็กอิน คือ มือลมสีรุ้งขนาดยักษ์ และยังมีกิจกรรมอีกมากมายทั้ง workshop เพ้นท์สีแห่งความเท่าเทียม ตู้สติ๊กเกอร์ ซุ้มดอกไม้ และจุดถ่ายภาพแสดงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม
ขณะที่ภายในงานมีบุคคลสำคัญจากหลากหลายวงการเข้าร่วมงานด้วยด้วย อาทิ เอกอัครราชทูตจากประเทศต่าง ๆ นายคชาภา ตันเจริญ หรือมดดำ นายวุฒิธร มิลินทจินดา หรือวู้ดดี้ นายเขมรัชต์ สุนทรนนท์ หรือดีเจอ๋อง นายธนัชพันธ์ บูรณาชีวาวิไล หรือดีเจบุ๊คโกะ และนายไพทูรย์ ขำขัน หรือเจ๊แขก เจ้าของร้าน ขนมครกเจ๊แขกแหกปาก จ.นครปฐม.
ทั้งนี้ในเวลาประมาณ 17.00 น.ภาคประชาชนได้ขึ้นรถแห่ขบวน หรือ Pride Caravan จากรัฐสภาพร้อมแสดงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม มายังสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
จากนั้นเวลา 17.05 น.นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รับหน้าที่เป็นประธานแทนนายกรัฐมนตรี ที่ป่วยเป็นโควิด-19 พร้อมด้วยรัฐมนตรี ได้ต้อนรับกลุ่ม LGBTQIAN+ และภาคประชาชน ซึ่งเดินขบวนแรลลีฉลองสมรสเท่าเทียม จากสภาผู้แทนราษฎรมายังทำเนียบรัฐบาล
ขณะที่ตัวแทนคู่รัก LGBTQIAN+ กล่าวว่า รู้สึกยินดี และเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่วันนี้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ผ่านสภาเรียบร้อยแล้ว รู้สึกขอบคุณ และอยากบอกว่าวันนี้เป็นวันที่มีความสุขที่สุด ซึ่งเป็นวันที่รอคอยมาเกือบทั้งชีวิต และไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีวันนี้ อยากให้จารึกวันที่ 18 มิถุนายนไว้ ที่ประเทศไทยกล้าหาญมาก ที่ได้ตัดสินใจอย่างถูกต้อง และเห็นความเท่าเทียมของมนุษย์ ยอมรับว่าวันนี้รู้สึกตื่นเต้น จนขนลุกน้ำตาไหลออกมา
จากนั้นนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขึ้นกล่าวรายงานว่า กว่า 12 ปี ที่กฎหมายฉบับดังกล่าวได้เข้าสภาฯ ฉบับแล้ว ฉบับเล่า ผ่านบ้าง ตกบ้าง เกือบจะผ่านบ้าง ซึ่งวันนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ผ่านสภาฯ แล้ว ซึ่งต้องขอขอบคุณสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา หน่วยงานราชการ และภาคประชาสังคม ยืนยันว่างานนี้ไม่ใช่การเมือง เพราะไม่มีรัฐบาล ไม่มีฝ่ายค้าน แต่งานนี้ทำเพื่อประชาชนคนไทยทุกคน และจากนี้ไปชาว LGBTQIAN+ จะสามารถแต่งงาน และอยู่ร่วมทำมาหากินด้วยกันเป็นครอบครัว มีสิทธิไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การจัดทรัพย์สินสมรสของคู่สมรส เป็นผู้จัดการทางอาญา รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ได้จากภาครัฐ เช่น ประกันสังคม และค่ารักษาพยาบาล
พร้อมกับเชิญชวนหากใครต้องการจะแต่งงาน มาแต่งงานที่ประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน และเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และในปี 2030 ประเทศไทยจะเสนอเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride
ก่อนที่นายภูมิธรรม จะมอบของที่ระลึก และช่อดอกไม้แห่งความเท่าเทียมให้กับกลุ่ม LGBTQIAN+ และภาคประชาชน และปล่อยขบวนจากทำเนียบรัฐบาล ไปยังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครด้วย