ครม. เห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 4 เขื่อนของกฟผ. งบเฉียด 960 ล้านบาท
วันนี้ (18 มิ.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำตะคอง, เขื่อนลำปาว, เขื่อนห้วยแม่ท้อ และเขื่อนกระเสียวกำลังผลิตติดตั้งรวม 6.75 เมกะวัตต์ โดยมีวงเงินขออนุมัติ 959.76 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินตราต่างประเทศ 243.83 ล้านบาท และเงินบาท 715.93 ล้านบาท โดยให้สามารถเกลี่ยงบประมาณระหว่างโครงการได้
นางรัดเกล้า กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำปาว เขื่อนห้วยแม่ท้อ และเขื่อนกระเสียว เป็นโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (แผน PDP2018 Rev.1) ซึ่งทั้ง 4 โครงการ เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ติดตั้งท้ายเขื่อนของกรมชลประทาน
โดยเป็นการดำเนินการแบบบูรณาการร่วมกับเขื่อน เพื่อให้สามารถบริหารการจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่กระทบต่อวัตถุประสงค์หลักเดิมของการสร้างเขื่อน รวมทั้งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น ๆ
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าทั้ง 4 โครงการ จะมีส่วนช่วยเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ภายในประเทศ และดำเนินการตามนโยบายภาครัฐตามแผน PDP2018 Rev.1 และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนตามนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย
สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ คือ
1. เพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ ตามแผน PDP2018 Rev.1 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดและในภูมิภาค ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นไปตามนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย
2. ประชาชนในประเทศได้ใช้พลังงานสะอาดที่เสถียร เนื่องจากสามารถเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้รวดเร็วภายในเวลา 5 นาที และสามารถเพิ่มหรือลดพลังงานได้ตามความต้องการของระบบไฟฟ้า และไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม
นางรัดเกล้า กล่าวว่า ในปี 2558 และปี 2566 ที่ผ่านมา เคยเกิดสถานการณ์ระดับน้ำในเขื่อนลำตะคองแห้งขอด เนื่องจากภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้กรมชลประทาน ต้องลดการระบายน้ำออกจากเขื่อน เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคและบริโภค รวมถึงเก็บไว้ใช้เพื่อการเกษตร
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากกรณีดังกล่าว กฟผ. จึงควรจัดทำแผนรองรับกรณีดังกล่าวในอนาคต และควรศึกษาถึงศักยภาพของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่น ๆ ที่เหมาะสม รวมถึงสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าและลักษณะทางกายภาพของแต่ละพื้นที่เพิ่มเติม เช่น โรงงานไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม
โดยประเมินผลกระทบ และความเป็นไปได้ในการผลิตพลังงานจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบอื่นให้ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน