ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ป่วย ไม่พร้อมสู้คดี ส่อปล่อยตัวเด็ก 14 ปี 31 ธ.ค.นี้

ห้องข่าวภาคเที่ยง - การตีกลับสำนวนเด็ก 14 ปีกราดยิงในห้างพารากอน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 4 ราย และมีแนวโน้มว่าผู้ก่อเหตุอาจจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ เกิดคำถามตามมาเกี่ยวกับกระบวนการทำสำนวน และขั้นตอนการทำคดีต่อจากนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร กฎหมายคุ้มครองผู้ก่อเหตุในฐานะเป็นเยาวชน และป่วยจิตเวช แล้วมีกฎหมายไหนคุ้มครองผู้เสียชีวิต และครอบครัวที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปตลอดกาล หรือไม่ 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ตีกลับสำนวนตำรวจ ก็เพราะพนักงานสอบสวน สอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็น "เด็ก" ในคดีนี้ โดยไม่รอผลการวินิจฉัยการตรวจจากแพทย์ฯ ส่งกลับมาก่อน แต่กลับดำเนินการแจ้งข้อหา พร้อมกับมีความเห็นสั่งฟ้อง ทำให้เข้าข่ายเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบตามกฎหมาย จึงให้รอเด็กหายป่วยเป็นปกติ หรือจนกว่าเด็กจะสามารถต่อสู้คดีได้ แล้วทำการสอบสวนใหม่ให้เสร็จสิ้น

ก็มีคำถามขึ้นมาทันทีว่า อัยการรู้ แล้วตำรวจที่ทำคดีไม่รู้ได้อย่างไร ตกลงแล้วข้อมูลที่สังคมรับรู้ตั้งแต่แรก ๆ ว่า ผู้ก่อเหตุไม่ได้ป่วย ถูกส่งตัวไปสถานพินิจ แต่ล่าสุดกลายเป็นว่าแพทย์บอกยังไม่พร้อมสู้คดี เรื่องราวเป็นอย่างไร และทำไมผู้ก่อเหตุน่าจะได้รับอิสรภาพในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ 

สรุปคือที่เข้าใจกันว่าผู้ก่อเหตุอยู่สถานพินิจความจริงไม่ใช่ อยู่รักษาตัวที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ในฐานะผู้ป่วยในมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ไปอยู่สถานพินิจเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น และก็เป็นที่มาว่าจะต้องมีคณะกรรมการประเมินสุขภาพจิตกันตลอด ซึ่งจนถึงขณะนี้แพทย์ลงความเห็นว่ายังไม่พร้อมสู้คดี

คำถามต่อมาคือ แล้วเมื่อไหร่จะพร้อม กระบวนการพิจารณาเชื่อถือได้หรือไม่ จะมีการแทรกแซงอะไรได้หรือเปล่า เพราะผู้ก่อเหตุมีฐานะ จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือไม่ นี่ก็เป็นสิ่งที่สังคมเขากังขา

ซึ่งก็มีคำยืนยันจากโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดว่า ขอให้เชื่อมั่นเถอะว่ากระบวนการตรวจสอบโปร่งใส ตามจรรยาวิชาชีพของหมอ และมีหลายฝ่ายร่วมประเมิน ดำเนินการทุก 15 วัน ส่วนคดียังมีอายุความ 20 ปี เมื่อไหร่ ที่แพทย์ลงความเห็นว่าผู้ก่อเหตุพร้อมสู้คดีแล้ว ตำรวจก็เดินหน้าทำคดีส่งสำนวนมาอัยการได้

ทีนี้มันก็ยังมีเรื่องคาใจสังคมว่า กฎหมายนี่เป็นคุณกับผู้ก่อเหตุไปหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองเด็ก เยาวชน ไปจนถึงการเป็นผู้ป่วยจิตเวช แล้วมีกฎหมายไหนคุ้มครองผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และญาติผู้เสียชีวิต ที่เขาต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปตลอดกาลหรือไม่

ทีมข่าวของเราติดต่อไปยังคุณเดือน น้าสาวของนางสาวเพ็ญพิวรรณ มิตรธรรมพิทักษ์ หรือ หนุงหนิง 1 ใน เหยื่อจากเหตุการณ์ดังกล่าว เธอรู้สึกว่าการดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุค่อนข้างล่าช้า พร้อมทั้งอยากให้ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานให้รัดกุมและรอบคอบมากที่สุด เพื่อจะได้เอาผิดกับผู้ก่อเหตุได้

หลังจากนี้ก็ต้องตามต่อว่าวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ผู้ก่อเหตุจะได้รับการปล่อยตัวอย่างที่คาดการณ์กันไว้หรือไม่ สุดท้าย 3 ชีวิตที่ต้องจากไป จะมีโอกาสได้รับความเป็นธรรมหรือไม่

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark