ฉายาสภาฯ 66 สภาลวงละคร (วัน)นอ-มินี - พิธา ดาวดับ
เช้านี้ที่หมอชิต - ถัดจากฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีจากผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล วันนี้เรามาต่อกันที่การตั้งฉายาสภา สส. และ สว.จากผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา
ฉายาสภาฯ 66 สภาลวงละคร (วัน)นอ-มินี - พิธา ดาวดับ
ฉายาสภาผู้แทนราษฎร ประจำปี 2566 คือ "สภาลวงละคร" อันเนื่องมาจากการชิงไหวชิงพริบในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะท่าทีของพรรคเพื่อไทยในช่วงแรกเล่นบทมวยรอง แต่สุดท้ายใช้สารพัดวิธีพลิกกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยเฉพาะการฉีก MOU ดังนั้นฉากการจับมือกอดคอกันอย่างหวานเจี๊ยบดุจดังข้าวต้มมัด จึงไม่ต่างจากโรงละครโรงใหญ่ ที่มีแต่ฉากการหลอกลวง
สำหรับฝั่งวุฒิสภา ได้รับฉายา "แตก ป. รอ Retire" ล้อมาจากฉายาของวุฒิสภาในปี 2565 คือ ตรา ป. ที่ สว.ทำหน้าที่รักษามรดก คสช. เพื่อประโยชน์ของ 2 ป. คือ ป.ประยุทธ์ และ ป.ประวิตร แบบไม่มีแตกแถว แต่ในปีนี้ทั้ง 2 ป. วงแตก เพราะในขณะที่ ป.ประวิตร หวังคั่วตำแหน่งนายกฯ แต่ สว.สายป.ประยบุทธ์ กลับลงมติเลือก นายเศรษฐา เป็นการทิ้งทวนก่อน สว. ชุดนี้จะหมดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2567
ลำดับต่อไป นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับฉายา (วัน) นอ-มินี เนื่องจากตำแหน่งนี้เป็นที่แย่งชิงของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ก่อนที่จะเห็นร่วมกันว่าใช้โควตาคนนอก พรรคเพื่อไทยจึงเสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ในขณะนั้นเป็นประธานสภา ซึ่งพรรคก้าวไกลก็ยอมรับ แต่เมื่อปฏิบัติหน้าที่ไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงเลือกนายกรัฐมนตรี บางคนมองว่าคล้ายเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทย อีกทั้งนายวันนอร์ก็เคยเป็นคนของพรรคเพื่อไทยมาก่อนด้วย
ด้าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้รับฉายา "แจ๋วหลบ จบแล้ว" เพราะคำว่าแจ๋วเปรียบเสมือน บทบาทของผู้รับใช้ ซึ่งเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา นายพรเพชร ถูกวิจารณ์มาตลอดว่า เป็นผู้รับใช้ คสช. แต่เมื่อเข้าสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในยุคปัจจุบัน นายพรเพชร พยายามหลบแรงปะทะและไม่ค่อยออกสื่อ เพื่อรอเวลาวุฒิสภาหมดวาระในเดือนพฤษภาคมปีหน้า
ตำแหน่งต่อไป นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่มี เพราะเพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ ส่วน "ดาวเด่น ปี 66" ไม่มีผู้ใดเหมาะสมและโดดเด่นเพียงพอเช่นกัน
ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คว้าฉายา "ดาวดับ ปี 66" เนื่องมาจากหลังเลือกตั้งมีความโดดเด่นจรัสแสง พลอยทำให้บรรดาด้อมส้มเรียก "นายกพิธา" ทำให้เกิดกระแส "พิธาฟีเวอร์" แต่สุดท้ายกลับไปไม่ถึงดวงดาว สภาไม่ได้เหยียบ ทำเนียบไม่ได้เข้า เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งแขวน จากคดีหุ้นไอทีวีจึงเป็นดาวที่เคยจรัสแสง แต่ตอนนี้ได้ดับลงแล้ว
และสำหรับวาทะแห่งปี 2566 มาจาก นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น ในฐานะแกนนำทีมเจรจาจัดตั้งรัฐบาล เป็นวาทะอันสืบเนื่องมาจากการฉีก MOU จากพรรคก้าวไกล เพื่อเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566
ต่อไป เหตุการณ์แห่งปี แน่นอนว่าต้องเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ด้วย เพราะเลือกตั้งเสร็จแล้ว ก้าวไกลรวมเสียง สส.ได้แล้ว แต่กลับต้องเลือกนายกรัฐมนตรีมากถึง 3 ครั้ง เนื่องจากต้องใช้เสียง สว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
จนกระทั่ง วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 นายชัยธวัช ได้แถลงส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เดือนต่อมา นายแพทย์ชลน่าน แถลงข่าวจับมือ 11 พรรคการเมือง ตั้งรัฐบาลเพื่อไทย 314 เสียง ซึ่งเป็นการจัดตั้งรัฐบาลแบบข้ามขั้ว ผ่านด่าน สว. และดันนายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้สำเร็จ คู่กัดแห่งปี งดเนื่องจากเพิ่งเปิดสมัยประชุมได้เพียงสมัยเดียว ยังไม่มีใครเป็นคู่กัดที่ชัดเจน ขณะที่ "คนดีศรีสภา 66" ยังไม่มี สส. หรือ สว. ที่เหมาะสมต่อเนื่องเป็นปีที่ 5
วันนอร์ ไม่โกรธฉายา (วัน) นอ-มินี
ได้รู้ฉายาแล้ว ไปถามความเห็นจากผู้ถูกตั้งฉายากันหน่อย นายวันมูหะมัดนอร์ เผยความรู้สึกหลังผู้สื่อข่าวตั้งฉายาให้ว่า เป็นเรื่องของสื่อมวลชน มองเป็นเรื่องหยอกล้อ แต่ยืนยันไม่ได้เป็นคนของพรรคไหนหรือเป็นนอมินีใคร ที่ว่าเข้าข้างพรรคเพื่อไทยมากเป็นพิเศษก็ไม่เป็นความจริง
นพ.ชลน่าน ขอบคุณสื่อฯ ตั้งวาทะแห่งปี
ขณะที่ นายแพทย์ชลน่าน ชี้แจง วาทะแห่งปี คิดผิดที่จับมือก้าวไกลว่า เป็นเรื่องของกลไกการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญไม่ปกติ ทำให้ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ จึงจำเป็นต้องแยกตัวเพื่อให้ตั้งรัฐบาลสำเร็จ ขอบคุณสื่อมวลชนที่ยกประเด็นขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นบวกหรือเป็นลบ แต่ในมุมของตนคือ ต้องการสื่อภาพความเป็นจริงในมิติทางการเมือง