กลิ่นหอมถูกใจ แต่ไม่ถูกปอด! สธ. เผย สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงของการเป็นโรคหอบหืดสูงถึง 1.31 เท่า
กรมควบคุมโรค เตือนสูบบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงป่วยโรคหอบหืดสูงถึง 1.31 เท่า เพราะในละอองไอของบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษอันตรายต่อสุขภาพ
วันนี้ (25 ธันวาคม 2566) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันมีข้อมูลและหลักฐานทางวิชาการยืนยันไปในทางเดียวกันแล้วว่า “การสูบบุหรี่ไฟฟ้า” เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะในละอองไอของบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษอันตรายต่อสุขภาพ ประกอบด้วย สารนิโคตินปริมาณสูง สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย สารเคมี โลหะหนัก รวมถึงก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สามารถแทรกซึมเข้าสู่ปอดและเข้าสู่กระแสเลือด โดยสารพิษเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้น ก่อให้เกิดอาการโรคหอบหืดได้
จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับโรคหอบหืดในวัยรุ่น ของนักวิชาการชาวจีน พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงของการเป็นโรคหอบหืดสูงถึง 1.31 เท่า และหากสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำเสี่ยงเป็นโรคหอบหืดสูงถึง 1.36 เท่า
นายแพทย์ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนเลิกสูบ ทั้งบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อลดโอกาสเสี่ยงเกิดโรคและภัยสุขภาพ เพราะในบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้า มีสารพิษเสพติดอันตราย หากฝ่าฝืนสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะ ต้องโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโทษ พิษภัยของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงการเลิกสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422