เปิดประวัตินายกฯ คนที่ 30 ของไทย "เศรษฐา ทวีสิน"
หลังจากยืดเยื้อกันจนมาถึงโหวตนายกฯรอบ3 มติที่ประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ผลปรากฏว่า นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย ได้เสียงโหวตเห็นชอบจาก สส.และ สว. เกินกึ่งนึ่ง ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
สำหรับนาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทย เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 ชื่อเล่น นิด เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองชาวไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย อดีตประธานอำนวยการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแสนสิริขึ้นเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศไทย
จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแมสสาชูเซ็ตส์ (University of Massachusetts) และปริญญาโทในสาขาบริหารธุรกิจด้านการเงินจาก บัณฑิตวิทยาลัยแคลมอนต์ (Claremont Graduate School) ของสหรัฐ ชีวิตส่วนตัวนายเศรษฐา สมรสกับ "หมออ้อม" พญ. พักตร์พิไล ทวีสิน มีบุตร 3 คน คือ "น้อบ" ณภัทร ทวีสิน, "แน้บ" วรัตม์ ทวีสิน และ "นุ้บ" ชนัญดา ทวีสิน
เส้นทางสู่การเมือง
เศรษฐา เผยว่าไม่เคยฝันที่จะก้าวเข้าสู่การเมืองมาก่อน ตนเองเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่การรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา เห็นว่าการยึดอำนาจเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและรับไม่ได้ บวกกับปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วง 8-9 ปีหลังมานี้ อีกทั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย รัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ตนจึงตัดสินใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคเพื่อไทยเพราะเชื่อว่าเพื่อไทยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เศรษฐาสมัครเป็นสมาชิกครอบครัวเพื่อไทย และในเดือนมีนาคม 2566 นั่งตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยให้กับแพทองธาร ชินวัตร และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทยเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
สำหรับผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคอันดับ 2 มี ส.ส. 141 ที่นั่ง รองจากพรรคก้าวไกล ที่ได้ส.ส. 151 ที่นั่ง ซึ่งเศรษฐายอมรับว่าตัวเลขดังกล่าวน้อยกว่าที่คาดคิดไว้ และน้อมรับว่าตนอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาไม่ถึงเป้า
เช่น จากการที่ตนตัดสินใจเข้าการเมืองช้า การไม่เข้าร่วมดีเบต
แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนไป หลังจากที่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับเสียงโหวตจากสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่ง โดยได้ 324 เสียง เป็นเสียงจากพรรคร่วม (8 พรรคในเวลานั้น รวมพรรคเพื่อไทย) 311 เสียง และเสียงจาก ส.ว. 13 เสียง จากสมาชิกทั้งหมด 749 คน และการเสนอชื่อพิธาซ้ำในที่ประชุมวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ก็มีมติออกมาว่าไม่สามารถเสนอชื่อพิธาอีกครั้งได้ ทางพรรคก้าวไกลจึงเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคอันดับสองเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เศรษฐาจึงถูกพูดถึงอย่างมากอีกครั้งในฐานะแคนดิเดตรัฐมนตรี
ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2566 พรรคเพื่อไทยแถลงว่าที่ประชุม 8 พรรค มีมติส่งมอบภารกิจแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลให้พรรคเพื่อไทย โดยเห็นชอบแนวทางให้พรรคเพื่อไทยหาเสียงสนับสนุนทั้งจากพรรคการเมืองนอกกลุ่มพรรคร่วมเดิม และสมาชิกวุฒิสภาได้ พรรคเพื่อไทยจึงเดินหน้าเพื่อหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งจาก สว. และ สส. พบว่านโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังคงเป็นเงื่อนไขหลัก ขณะที่บางพรรคและบางคนแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งที่จะไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกลในทุกกรณี
พรรคเพื่อไทยจึงได้ปรึกษาหารือกับพรรคก้าวไกลขอถอนตัวจากการร่วมมือกัน และเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ เสนอชื่อ "นายเศรษฐา ทวีสิน" แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย โดยพรรคและเศรษฐายืนยันว่าจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และไม่สามารถมีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม จากเงื่อนไขจากหลายพรรค และ สว.
ปรากฏว่าในวันนี้ (22 ส.ค 66) ที่อาคารรัฐสภาการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้คะแนนเสียงโหวตเกินกึ่งหนึ่ง คว้าเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
BUGABOONEWS