รู้เรื่องเมืองไทย Siam Insight : อนุรักษ์งานฝีมือ ช่างไม้ อู่ต่อเรือ ชายแดนใต้
เจาะประเด็นข่าว 7HD - "อู่ต่อเรือ" หรือ ที่คนทางภาคใต้เรียกว่า "คานเรือ" ในอดีตเป็นแหล่งรวมของช่างฝีมือ ในการต่อเรือ ที่ส่งต่อภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะช่างไม้ เพราะอาชีพเหล่านี้ไม่มีโรงเรียนให้ฝึกสอน ขณะที่ปัจจุบันช่างซ่อมเรือกำลังลดน้อยลง ติดตามจาก รู้เรื่องเมืองไทย Siam insight กับ คุณอรรถพล ดวงจินดา
รู้เรื่องเมืองไทย siam insight พาคุณผู้ชมไปรู้จักกับอาชีพคนทำเรือ ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต และไปดู อู่ต่อเรือ หรือ คานเรือ แหล่งรวมของอาชีพช่างต่อเรือ ที่จังหวัดปัตตานี จากที่เคยเป็นเมืองท่าเรือสำคัญในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ อีกทั้งเคยรุ่งเรือง ทั้งด้านการค้า-การประมง แต่ปัจจุบันกลับตรงกันข้าม บรรยากาศเงียบเหงาอย่างเห็นได้ชัด
ในอดีตอู่ต่อเรือ ถือเป็นแหล่งรวมของช่างมากฝีมือ ในหลากหลายแขนง ทั้งช่างไม้, ช่างตอกหมัน, ช่างประกอบ, ช่างเชื่อม, ช่างสี, ช่างระบบ และช่างเครื่อง เนื่องจากการประกอบเรือแต่ละลำ ต้องอาศัยช่างหลากหลายด้าน และทักษะช่างชั้นสูง ล้วนต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างโชกโชน
อย่างช่างไม้ ที่ต้องใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม ในการเข้าไม้ ดัดไม้ และการตอกหมันทำยาชัน ซึ่งพบว่าปัจจุบัน ช่างรุ่นเก่า ๆ อายุเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง ไม่มีคนรุ่นใหม่มาสานต่อ ทำให้อาชีพของคนต่อเรือที่เป็นความสามารถเฉพาะด้าน ใกล้สูญหาย แต่กลับพบเห็นแต่แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำอาชีพในคานเรือกันมากขึ้น
"คานต่อเรือ" ยังถือเป็นสถานที่สำคัญ เสมือนโรงพยาบาล ที่ซ่อมบำรุงรักษา ให้เรือคงสภาพให้ปลอดภัย จากอายุการใช้งาน ที่ทั้งผ่านคลื่นลม ฝ่าแดด ฝ่าลมมรสุม และความเค็มน้ำทะเลที่กัดกร่อน จนเกิดการสึกหรอไปตามเวลา ทำให้เรือทุกลำจะต้องขึ้นคานซ่อมบำรุง ทุก 2-3 ปี
ปัจจุบันภาคการประมง ต้องปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2560 ทำให้เรือประมงในจังหวัดปัตตานี จากที่เคยออกทำประมงมากกว่า 2,000 ลำ ปัจจุบันลดเหลือ 200-300 ลำ ทำให้พื้นที่คานต่อเรือ ที่เคยรองรับเรือขนาดใหญ่ได้ถึง 33 ลำ ปัจจุบันมีเรือเข้าอู่เดือนละ 5-10 ลำเท่านั้น จนหลายคนกังวลว่า อาชีพที่ต้องใช้ประสบการณ์และทักษะทางช่างชั้นสูงในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งเป็นความสามารถพิเศษของช่างเหล่านี้อาจหายไป
การต่อเรือ และซ่อมเรือ ถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญ มีส่วนเชื่อมโยงกับธุรกิจการขนส่งทางน้ำ และกิจการพาณิชย์นาวี ตลอดจนอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอีกมาก ดังนั้นการอนุรักษ์และส่งเสริมให้อาชีพเหล่านี้ยังคงอยู่ จึงเสมือนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ให้อยู่รอดไปได้พร้อม ๆ กัน