ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

การประชุม APEC CEO SUMMIT THAILAND 2022 วันแรก

ข่าวภาคค่ำ - ไปดูความเคลื่อนไหวในเวทีการประชุม APEC CEO SUMMIT 2022 ตลอดทั้งวันที่ผ่านมากับ คุณณิชารีย์ พัดทอง ซึ่งไปติดตามรายงานข่าวอยู่ที่นั่น

ตลอดทั้งวันที่ผ่านมา ได้มีผู้นำโลกรวมทั้งหมด 5 ประเทศ ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ชิลี นิวซีแลนด์ ที่เดินทางมาปาฐกถา แสดงวิสัยทัศน์ ที่งาน APEC CEO summit ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้นำจีน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะเดินทางมาปาฐกถา ในงานวันนี้ด้วยเช่นกัน แต่ติดภารกิจด่วน ทำให้ไม่สามารถมาได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงตารางงานในวินาทีสุดท้าย

ไปดูความเคลื่อนไหวตลอดทั้งวันที่ผ่านมา เริ่มต้นกันที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน APEC CEO Summit เน้นย้ำถึงความสำคัญของเวทีนี้ ว่าเป็นการรวมตัวของภาคธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ให้เราฟื้นฟูความเชื่อมโยง รื้อฟื้นความสัมพันธ์ และสานต่อความร่วมมือระหว่างกันอย่างยั่งยืน และภาคเอกชนมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ทั้งยังประกาศว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอนาคตอันใกล้ รวมถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นที่ผู้นำหลายท่านเน้นย้ำสอดคล้องกับการแสดงวิสัยทัศน์ของ นาย "แฟร์ดีนันด์ มาร์โคส จูเนีย" ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ที่ระบุว่า ความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็น 3 ประเด็นที่สำคัญและท้าทายที่สุดที่โลกกำลังเผชิญ เช่นเดียวกันกับ นาย "เหวียน ซวน ฟุก" ประธานาธิบดีเวียดนาม เผยว่า การค้าการลงทุนในอนาคตจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากวิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึง การระบาดใหญ่ของโควิด-19 และสถานการณ์วิกฤตโลก ในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อราคาอาหารและการขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งเราจำเป็นต้องแสวงหาทางเลือกที่หลากหลายเพื่อรับมือกับวิกฤตดังกล่าว

ขณะที่ ผู้นำจากทางฝั่งทวีปอเมริกาใต้ นาย "กาบริเอล โบริก" ประธานาธิบดีสาธารณรัฐชิลี กล่าวว่า ชิลี กำลังเผชิญปัญหารุมเร้าทางเศรษฐกิจและผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 สิ่งที่ท้าทายก็คือ การตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้ากับการแก้ปัญหาในระยะยาว รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เพราะเราไม่อาจทำอะไรสำเร็จได้หากปราศจากความเชื่อมั่น มุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือ และความเสมอภาค นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรี "จาซินดา อาร์เดิร์น" ผู้นำนิวซีแลนด์ ฝากถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่ใช่แค่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียว

ในภาคส่วนของมุมมองจาก องค์กรระหว่างประเทศ ศาสตราจารย์เคล้าส์ ชวาป ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum แนะนำว่าเพื่อการเติบโตและอยู่รอดในอนาคต ภาคธุรกิจจะต้องพร้อมรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยคิดอย่างมีกลยุทธ์ สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และดำเนินธุรกิจตามแนวทางทุนนิยมในรูปแบบใหม่ด้วยความยั่งยืน ต้อง "คำนึงถึงประชาชน สังคมและโลก" ทางฟากฝั่งของ นายโตโมชิกะ อุยามะ ที่ปรึกษาอาวุโส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก หรือ WTO ให้ความเห็นว่า การสร้างความเชื่อมั่นเป็นหัวใจของการร่วมมือกัน พร้อมกับยกตัวอย่างความร่วมมือที่นำไปสู่การบรรลุข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญหลายประการในการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลกครั้งที่ 12 ในปีนี้

สรุปสาระสำคัญในวันนี้ คือ ไทยจะเสนอให้ผู้นำเอเปก รับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่งจะกำหนดทิศทางของเอเปกไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน การจัดการ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน ผลักดันการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความสำเร็จนี้ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาคเอกชน และการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ภูมิภาคก้าวไปข้างหน้า

สำหรับการประชุม APEC CEO SUMMIT จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้อีก 1 วัน โดยจะมีผู้นำอีก 2 ประเทศ ก็คือ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงานประชุม APEC CEO SUMMIT ด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกันกับภาคเอกชน ตัวแทนนักธุรกิจชั้นนำ ที่จะเข้าร่วมการประชุมอย่างคับคั่ง

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark