ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : เฟดขึ้นดอกเบี้ยสะเทือนถึงไทย
ประเด็นเด็ด 7 สี - การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ถูกติดตามมาโดยตลอด นับตั้งแต่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ส่วนการประชุมรอบนี้ ทั่วโลกคาดว่า เฟดจะขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง แน่นอนว่าตลาดการเงินไทยได้รับแรงกระเพื่อมแน่นอน ติดตามในประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ กับคุณเกณฑ์สิทธิ์ กันธจันทร์
ในช่วงเวลานี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ของ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด น่าจะยังอยู่ระหว่างการประชุมและจะมีการแถลงรายละเอียดในวันพรุ่งนี้ ก็รอลุ้นกันว่าจะเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันหรือไม่ เรามาย้อนดูกันรายละเอียด การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด กันสักหน่อย
จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เฟด ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 5 ครั้ง นับตั้งแต่การประชุมในเดือนมีนาคม โดยการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เฟดตัดสินใจขยับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ที่ 0.75% และขยับอีกครั้งในเดือนกันยายน ที่ 0.75% ส่งผลให้ อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ล่าสุดพุ่งไปอยู่ที่ 3 - 3.25% ส่วนการประชุมของเฟดที่กำลังเกิดขึ้นในระหว่างนี้ หากขึ้นดอกเบี้ยอีก ก็จะเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งที่ 6
ซึ่งบรรดานักลงทุน ต่างออกมาคาดการณ์กันว่า เฟดอาจจะขยับดอกเบี้ยรอบนี้อีก 0.75% และหากเป็นไปตามที่คาดกัน จะทำให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะทะยานสู่ระดับ 3.75-4% เลยทีเดียว และความเคลื่อนไหวจะเกิดขึ้นกับตลาดการเงินทั่วโลกอีกครั้ง เพราะเปรียบเสมือนต้นทุนของผู้ประกอบการ และนักลงทุน ก็จะสูงขึ้นตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ
แล้วเกี่ยวอะไรกับประเทศไทยเรา จำแนกออกมาแบบนี้ ผลของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะส่งผลกับประเทศไทย 3 ด้าน นั่นก็คือ
อัตราแลกเปลี่ยน คือ ถ้าสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย ความต้องการถือเงินดอลลาร์สหรัฐมาก ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งขึ้น หมายความว่าค่าเงินบาทของไทยอ่อนลง ส่งผลต่อการส่งออก-นำเข้า และเพิ่มภาระหนี้ของผู้ที่มีหนี้ต่างประเทศ
ส่วนด้านการค้า การนำเข้าสินค้าจะมีต้นทุนสูงขึ้นแต่ในแง่ของการส่งออก จะได้รับผลบวกจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ความเสี่ยงที่มาพร้อมกันคือ ความต้องการสินค้าของสหรัฐฯ จะลดลง ดังนั้นการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ก็อาจจะลดลงไปด้วย
และอีกด้านนั่นก็คือ ตลาดการเงิน ซึ่งเมื่อนักลงทุนสามารถนำเงินไปลงทุนได้ทั่วโลก ก็ย่อมมองหาผลตอบแทนที่ดีที่สุด เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน
และสิ่งที่ตามมา หลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ สถาบันทางการเงินจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยประเภทต่าง ๆ ตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้ ลามไปถึงดอกเบี้ยที่มาจากผลตอบแทน ของการลงทุนในหุ้นกู้และพันธบัตรรัฐบาล ผลคือประชาชนจะเริ่มรัดเข็มขัดแน่นขึ้น เพราะต้องระมัดระวังการใช้จ่ายเงิน เพื่อหนีจากการก่อหนี้ ที่จะตามมาอีกคือการลงทุนจะชะลอตัว ก็เพราะผลตอบแทนมันน้อยลง ขณะที่ภาคธุรกิจก็จะมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น จากภาระหนี้ที่อาจเพิ่มขึ้นแบบมหาศาล หลายบริษัทก็อาจจะชะลอการขยายธุรกิจออกไป หรือลงทุนอย่างระมัดระวังมากขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย ลองไปฟังมุมมองของภาคเอกชนกันครับ
นอกจากนี้ ผลของการขยับขึ้นดอกเบี้ย ก็จะทำให้ค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นด้วย เมื่อนั้นดอกเบี้ยของไทยสูงกว่าต่างประเทศ ก็มีแนวโน้มที่เงินทุนจากต่างชาติจะไหลเข้ามาลงทุน หรือเก็งกำไรในเงินบาทของไทยมากขึ้น เพราะมีผลตอบแทนที่สูงกว่าสกุลเงินต่างประเทศ
การประชุม กนง.รอบถัดไปจะมีขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ เราคงต้องมาลุ้นกันว่า การพิจารณาอัตราดอกเบี้ย จะเป็นไปตามที่หลายฝ่ายออกมาคาดเดากันหรือไม่
การประชุม กนง.สำหรับปีนี้ยังเหลืออีกครั้งเดียว คือสิ้นเดือนนี้ การขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ก็มีความเป็นไปได้สูงมาก ยังไงต้องลุ้นกันดู เพราะก่อนหน้านี้แบงก์ชาติเองก็เคยออกมาบอกว่า การพิจารณาขยับอัตราดอกเบี้ยจะดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป