ตีตรงจุด : โวย ทนายความอาสา เรียกค่าดำเนินคดี MOUNTAIN B
เช้านี้ที่หมอชิต - เชื่อว่าคุณผู้ชมคงจะยังจำกันได้ถึงโศกนาฏกรรม ไฟไหม้เมาน์เทน บี ผับ ที่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 23 คน บาดเจ็บกว่า 50 คน เหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนั้น ผ่านมากว่า 1 เดือนแล้ว เข้าสู่โหมดการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการเปิดประเด็นที่น่าสนใจจากญาติเหยื่อในเหตุการณ์นี้ว่า ถูกทนายความเรียกเก็บเงินค่าดำเนินคดี และขอส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์จากเงินที่ชนะคดี เรื่องนี้มีมุมไหนมาชวนสังคมคิดบ้าง ไปตีตรงจุดกันเลย
คนที่ออกมาเปิดข้อมูลนี้คนแรก คือ ทนายเชาว์ มีขวด ทนายความอาสา ที่รับว่าความให้กับคุณแม่น้องอายุ 17 และ 18 ปี ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น ด้วยการโพสต์เฟซบุ๊ก มีใจความโดยสรุปว่า ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากผู้เสียหายในคดีนี้ เพราะไม่มีเงินจ้างทนาย หลังถูกทนายความที่เข้าไปให้การช่วยเหลือตั้งแต่ต้น เรียกเก็บค่าทนายรายละ 25,000 บาท และส่วนแบ่งจากเงินที่ชนะคดีอีก 20% โดยเห็นว่าเมื่อเป็นทนายความอาสา ไม่ควรมีการเรียกเก็บเงินจากญาติเหยื่อที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่แล้ว
นั่นก็เป็นมุมของ ทนายเชาว์ ที่เรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยว่าควรจะเข้ามาดูแลญาติเหยื่อในคดีนี้ด้วย เพราะหลายคนอยากไปต่อ แต่กำลังทรัพย์ไม่เอื้อ และหมดหนทางไม่รู้จะหันหน้าหาใคร
ทีมข่าวของเรายังสอบถามไปกับญาติเหยื่อ ที่ไม่เห็นด้วยในการเรียกเก็บเงินค่าทนายความ เธอเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่แรกที่ทนายความเสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือ ไม่มีการพูดถึงเรื่องค่าใช้จ่าย จึงรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมที่จะมีการเรียกเงินทั้งค่าว่าความ และขอเงิน 20% จากการชนะคดี ทั้ง ๆ ที่เรียกตัวเองว่า เป็นทนายความอาสา ทำให้รู้สึกเหมือนว่าทนายความกำลังหากินกับญาติเหยื่อในคดีนี้
เมื่อมีเสียงสะท้อนมาแบบนี้ ทีมข่าวของเราก็เลยสอบถามไปยัง ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ซึ่งเป็นที่รับทราบกันดีว่าเข้ามาช่วยเหลือเรื่องคดีความให้กับญาติเหยื่อเมาน์เทน บี โดยตอนนี้ก็มีญาติเหยื่อในคดีเกือบ 30 คน ที่ให้ช่วยดำเนินคดีให้ เจ้าตัวก็ยอมรับว่า มีการเรียกค่าทนายความจริง ซึ่งเป็นเรื่องของเครือข่ายที่ต้องเข้ามาช่วยทำคดี
ก็เป็นคำชี้แจงจาก ทนายรณณรงค์ ที่ยืนยันว่า การเรียกเก็บเงินเกิดจากฝั่งผู้เสียหายที่ต้องการความเป็นธรรม และขอให้ทนายคิดเงิน ส่วนเรื่องมีการขอให้ญาติเหยื่อรับเงินเยียวยาเพื่อช่วยอีกฝั่งไม่เป็นความจริง เพราะตั้งใจฟ้องอยู่แล้วเนื่องจากในจำนวนนี้เป็นญาติของทนาย ส่วนจะลดโทษหรือไม่เป็นดุลยพินิจของศาล
เรายังสอบถามไปยังญาติเหยื่อที่พร้อมจ่ายเงินค่าทนายความด้วย ไปฟังความเห็นในด้านนี้กันด้วยว่า ทำไมจึงยอมจ่ายเงิน
ก็นำเสนอให้เห็นทั้ง 2 มุม ซึ่งคดีเมาน์เทน บี นี้ ยังมีญาติเหยื่อ 10 กว่าราย ที่ไปขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความด้วยเช่นเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่า คดีมีความล่าช้า ทนายความมาเฉพาะในช่วงที่จะเป็นข่าวได้แล้วหายไป และยังมีการเรียกเก็บเงินค่าทนายความด้วย
เรื่องนี้ก็มีมุมชวนสังคมคิด เกี่ยวกับคำว่า ทนายความอาสา การช่วยเหลือประชาชนควรจะจบลงแบบไหน ก็มี 2 มุม ทั้งที่คิดว่า แม้เป็นทนายอาสาก็เรียกค่าทนายความได้ เนื่องจากเคสนี้มีผู้เสียหายจำนวนมาก การใช้ทนายความอาจต้องมากกว่า 1 คน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คิดว่า เมื่ออาสาแล้วไม่ควรเรียกเก็บเงินจากญาติเหยื่อ
ขณะเดียวกันก็ยังมีข้อมูลที่สภาทนายความเองต้องนำกลับไปทบทวนด้วย เพราะมีญาติเหยื่อคดีนี้ที่เคยไปพบทางสภาทนายความ แต่กลับเกิดความไม่ไว้วางใจที่จะให้ช่วยดำเนินคดีให้ โดยมีการเปรียบเทียบกับคดีซานติกาผับ ซึ่งสภาทนายความเป็นผู้ว่าความให้ แต่สุดท้ายญาติเหยื่อได้รับเงินเยียวยาจำนวนน้อย ขณะที่ผู้ก่อเหตุก็ติดคุกไม่กี่ปี จึงไม่เชื่อฝีมือ
สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินคดีนี้ ในด้านการเยียวยามีการจ่ายเงินให้กับญาติเหยื่อไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งละ 50,000 บาท รวม 150,000 บาท ต่อราย แต่ยังได้ไม่ครบทุกคน และมีญาติเหยื่อบางรายที่ปฏิเสธรับเงินเยียวยา เพราะต้องการสู้คดี โดยไม่อยากให้การจ่ายเงินเยียวยานอกศาล มีผลกับคดีในอนาคต
ส่วนคดีอาญาทางตำรวจเตรียมที่จะสรุปสำนวนส่งอัยการเร็ว ๆ นี้ ซึ่ง ทนายรณณรงค์ จะนำญาติเหยื่อไปพบตำรวจเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงก่อนมีการส่งฟ้อง และทางสภาทนายความก็เตรียมที่จะส่งทนายความลงพื้นที่เพื่อสรุปคดีกับญาติเหยื่อเพิ่มเติมด้วย