คอลัมน์หมายเลข 7 : ตามดูต้นทุนค่าไฟฟ้า ทำไมคนไทยจ่ายแพง ?
ข่าวภาคค่ำ - เดือนนี้เป็นเดือนแรกที่ค่าเอฟทีปรับขึ้นเป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และจะต่อเนื่องไปจนถึงเดือนธันวาคม ส่งผลให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นราว 300% ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเกินกว่า 500 หน่วย ซึ่งไม่อยู่ในกลุ่มที่จะได้รับส่วนลดจากรัฐบาล ต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น ต้นทุนเหล่านี้เป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง หรือยังมีสาเหตุอื่น ไปค้นหาคำตอบในคอลัมน์หมายเลข 7 กับ คุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร
ค่าเอฟที ที่พุ่งขึ้นถึง 300% เริ่มตั้งแต่เดือนนี้ ไปจนถึงธันวาคม ทำให้ ค่าไฟฟ้าภาพรวมเพิ่มขึ้นราว 15-18%
เมื่อดูข้อมูล ค่าเอฟทีย้อนหลัง 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2554-ปัจจุบัน พบว่า ปี 2554 ติดลบอยู่ 6 สตางค์ ก่อนจะขึ้นแบบกราฟเริ่มชันในปี 2555 แล้วก็ค่อย ๆ ไต่ระดับไปอยู่ที่ 69 สตางค์ต่อหน่วย ในช่วงปี 2557-2558 และค่อย ๆ ดิ่งลงมาจนเริ่มติดลบในช่วงปลายปี 2558 จนถึงปี 2564 ก็เริ่มทะยานขึ้นอีกครั้งถึงปัจจุบันที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเรียกว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ภาครัฐให้เหตุผลว่าเกิดจากราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ยังมีคำถามจากภาคประชาชนว่า นอกจากภาระเรื่องราคาก๊าซธรรมชาติที่แพงขึ้นแล้ว ค่าเอฟทียังผันแปรตามต้นทุน 3 ส่วนนี้ด้วยหรือไม่ ตั้งแต่ส่วนต่างของค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.ซื้อจากเอกชนแพงกว่าราคาค่าไฟฐาน ค่าใช้จ่ายจากการสำรองไฟฟ้าที่มากกว่า 50 % ทั้ง ๆ ที่มาตรฐานไม่ควรเกิน 15% และค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นเงินกินเปล่าที่ต้องจ่ายให้เอกชน คือ ต้นทุนหลักด้วยใช่หรือไม่
มีข้อมูลจากสภาองค์กรของผู้บริโภคด้วยว่า ในแต่ละปี รัฐวางแผนสำรองการผลิตไฟฟ้าที่สูงเกินไป ทำให้คนไทยต้องแบกรับภาระมากถึง 48,929 ล้านบาทต่อปี เท่ากับโดยเฉลี่ยแล้วผู้ใช้ไฟฟ้าจะเสียเงินโดยสูญเปล่ารายละ 2,039 บาทต่อปี แต่เรื่องนี้ก็มีคำอธิบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีความจำเป็นต้องสำรองการผลิตไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน
ขณะที่กรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญตัวแทนจาก กฟผ. ไปชี้แจง จนได้ความว่า มีการรับซื้อไฟฟ้าตามสัญญากับเอกชน แต่จำหน่ายได้เพียงแค่ 40% จากที่ซื้อมาเท่านั้น ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายส่วนเกิน ถูกผลักมาให้ประชาชน จึงเสนอให้มีการต่อรองกับภาคเอกชน เพื่อลดราคาค่าไฟฟ้าที่ผลิตเกิน
เหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลกำหนดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ พีดีพี สนับสนุนให้เอกชนผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ลง คือ การช่วยรัฐลดภาระงบประมาณด้านการลงทุน มีคำถามว่าประเทศชาติ ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดจากแผนนี้จริงหรือ
วันพรุ่งนี้เราจะมาชำแแหละกันต่อ ถึงผลกำไรของธุรกิจโรงไฟฟ้า ภาระของ กฟผ. และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนเป็นอย่างไร