วันแรดโลก (WORLD RHINO DAY) 22 กันยายน วันแห่งการอนุรักษ์แรด
วันแรดโลก (WORLD RHINO DAY) 22 กันยายน วันแห่งการอนุรักษ์แรด ตอกย้ำถึงจำนวนของประชากรแรดลดลง สาเหตุหลักมาจากการล่าโดยน้ำมือมนุษย์
วันแรดโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2553 โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ World Wide Fund for Nature - WWF แห่งแอฟริกาใต้ จากการริเริ่มของ 2 คน คือ Lisa Jane Campbell และ Rhishja Cota ที่มีความต้องการหาวิธีที่มีประสิทธิภาพในการหยุดการล่าแรด
แรด เป็นสัตว์เลือดอุ่นขนาดใหญ่อันดับสองของโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและปัจจุบันตกอยู่ในภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ ถือได้ว่าเกิดจากฝีมือล่าของมนุษย์ ที่นำชิ้นส่วนอวัยะของแรดไปใช้ประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะ นอแรดที่เชื่อว่าเป็นยา และส่วนหนึ่งนำไปเป็นเครื่องประดับ
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประจำประเทศไทย หรือ WWF รายงานข้อมูลล่าสุดว่า ปัจจุบันจำนวนประชากรแรดทั่วโลกเหลืออยู่ไม่ถึง 30,000 ตัว ได้แก่ แรดอินเดีย มีประชากรเหลืออยู่ราว 3,300 ตัว แรดดำ 5,000 ตัว แรดขาว 20,400 ตัว และแรดชวา ปัจจุบันมีจำนวนประชากรที่สำรวจได้เพียง 44 ตัวเท่านั้น พบหลงเหลือในอุทยานแห่งชาติอูจุงกูลน เกาะชวา อินโดนีเซีย ซึ่งครั้งหนึ่งแรดชวา และ แรดสุมาตรา(กระซู่) นั้นเคยอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว จากหลักฐานชิ้นสุดท้าย เมื่อปี 2540 มีรายงานว่าพบร่องรอยของแรดสุมาตราบริเวณป่าฮาลา-บาลา ในพื้นที่รอยต่อจังหวัดยะลาและนราธิวาส
สำหรับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย มีไฮไลท์อยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ คือ แรดอินเดียหนึ่งเดียวของไทย "กาลิ” ปัจจุบันกาลิ ในวัย 35 ปี ถือว่าอยู่ในวัยชรา เนื่องจากตามธรรมชาติแรดอินเดียจะมีอายุเฉลี่ยสูงสุดที่ 40 ปี แต่สำหรับกาลิได้รับการดูแลอย่างดี จึงมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและอายุยืน ที่ผ่านมาสวนสัตว์เชียงใหม่พยายามเพาะขยายพันธุ์ เพราะแรดเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ อยู่ในบัญชีไซเตส 1 และ ขณะนี้ก็เหลือเพียงตัวเดียวในประเทศไทย
BUGABOONEWS
ขอบคุณข้อมูลจาก : องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย