เรียกร้อง ศธ. ออกมาตรการเข้มรถนักเรียน หลังครูลืมเด็กไว้ในรถจนเสียชีวิต
ข่าวสังคม 1 กันยายน 2565 - สนามข่าว 7 สี - อุทาหรณ์จากเหตุการณ์เด็ก ป.2 ถูกลืมไว้ในรถตู้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า หลายฝ่าย ทั้งครู ผู้ปกครอง โรงเรียน และกระทรวงศึกษาธิการ ต้องหันมาทบทวนและจัดระบบรถนักเรียนกันใหม่ ตรวจสอบเข้มเพื่อให้เกิดความอุ่นใจในความปลอดภัยแก่เด็ก ๆ ที่พ่อแม่ฝากขึ้นรถไปโรงเรียน
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เร่งรัดกระทรวงศึกษาธิการ ออกมาตรการควบคุมมาตรฐานรถรับส่งนักเรียน แก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด จากกรณีเด็กนักเรียนเสียชีวิตภายในรถตู้รับส่งนักเรียนของโรงเรียนในจังหวัดชลบุรี รวมทั้งออกมาตรการให้โรงเรียนต้องรับผิดชอบเยียวยาความเสียหาย หากมีนักเรียนได้รับอันตรายจากการใช้บริการรถรับส่งนักเรียน ควรมีครูประจำรถเพื่อช่วยดูความปลอดภัยของเด็ก และการตรวจสอบของครูประจำชั้นว่าเด็กเข้าเรียนครบหรือไม่
พร้อมเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการออกนโยบายกำกับและจัดสรรให้มีรถรับส่งนักเรียนให้ทุกโรงเรียน เพื่อความปลอดภัย
ขณะที่ หมอแล็บแพนด้า นายภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง เจ้าของแฟนเพจ "หมอแล็บแพนด้า" โพสต์ว่า การลืมเด็กไว้ในรถโรงเรียนจนเสียชีวิต รู้สึกหดหู่จริง ๆ รถโรงเรียนจะต้องมีมาตรการความปลอดภัยที่มากกว่านี้ แสดงว่าไม่มีการตรวจสอบซ้ำเลยว่าเด็กลงครบหรือไม่
เพื่อช่วยกันป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ไม่ให้เกิดกับลูกหลานเรา อย่าลืมโทรสอบถามคุณครูเป็นระยะ หรือคนขับรถว่าลูกถึงที่หมายยัง จะได้มั่นใจว่าลูกของเราได้ลงจากรถแล้วจริง ๆ
และที่สำคัญ ผู้ปกครองควรจดจำรายละเอียดของรถโรงเรียนที่ใช้บริการให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นใครเป็นคนขับ เบอร์โทรอะไร มีใครไปกับลูกเราบ้าง เวลารับส่งเด็กขึ้นรถ ลงรถ มีการเช็กชื่อเด็กไหม แล้วพอถึงโรงเรียนแล้วมีการตรวจสอบอีกรอบไหม พอตรวจสอบฝั่งรถโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว มาดูฝั่งผู้ปกครองบ้าง สิ่งสำคัญที่เราทำได้ก็คือ การสอนให้ลูกเอาตัวรอด หลายวิธีที่พอช่วยได้ก็คือ สอนลูกบีบแตรรถที่อยู่ตรงพวงมาลัย บอกลูกอย่าหยุดบีบแตรจนกว่าจะเห็นคนเดินมาหาที่รถ จะได้มีคนมาช่วยเหลือได้ทัน และตอนนั่งรถต้องสอนให้ลูกรู้เรื่องปุ่มเปิด-ปิด ปุ่มล็อกประตูอยู่ตรงไหนของรถ ทำแบบไหน เด็กจะได้เปิดเป็น
ก่อนหน้านี้ ก็มีโรงเรียนอนุบาลที่ซ้อมกดแตรรถ ให้เด็ก ๆ ฝึกวิธีที่จะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเด็กติดในรถโรงเรียน ถ้าฝึกบ่อย ๆ เด็กจะคุ้นชิน ไม่ตื่นกลัวในสถานการณ์จริง ส่วนใหญ่เด็กที่ติดอยู่ในรถไม่ได้เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ แต่เสียชีวิตเพราะความร้อนจัดที่อยู่ในรถ ยิ่งนานเกิน 10 นาที ร่างกายของเด็กจะแย่ลง ควรสอนให้ลูกให้รู้จักวิธีเปิดกระจกรถ เพื่อระบายอากาศ และลูกยังสามารถตะโกนขอความช่วยเหลือได้ ถ้าไปหลายคนควรสอนให้ลูกนั่งข้าง ๆ เพื่อน และบอกเพื่อนเสมอว่าถ้าจะลงรถให้เรียกและจับมือลงพร้อมกัน และถ้าลูกมีโทรศัพท์มือถือ อย่าลืมสอนโทรสายด่วน 1669 จะได้มีคนมาช่วยอย่างปลอดภัย
ขอบคุณภาพจาก : Facebook หมอแล็บแพนด้า, อนุบาลโรจน์จิราภา