ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : ล่มสภา คว่ำกฎหมาย ท้าทายจริยธรรมนักการเมือง

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ เกาะติดปมรัฐสภาล่มครั้งที่ 4 คว่ำร่างกฎหมายเลือกตั้งสูตรหาร 500 ส่งผลให้จะมีการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.สอบสมาชิกวุฒิสภาที่ทำสภาล่ม ฐานขัดจริยธรรมร้ายแรง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ยังสะท้อนปัญหาใดอีกหรือไม่ ติดตามจากคุณสุธาทิพย์ ผาสุข

เป็นไปตามคาดกับผลการประชุมรัฐสภา ที่ล่มเป็นครั้งที่ 4 จากการจงใจไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมนำโดยสองพรรคใหญ่ ทั้งเพื่อไทยและพลังประชารัฐ ร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน ทำให้ร่างกฎหมายเลือกตั้ง สูตรหาร 500 ต้องตกไป ต้องกลับไปใช้ร่างเดิม สูตรหาร 100 ผลพวงจากเรื่องนี้ ทำให้ร่างกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ล่าช้าออกไป เป็นเหตุให้จะมีการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.เพื่อสอบจริยธรรม สมาชิกวุฒิสภาที่ทำรัฐสภาล่มใน 3 ครั้งแรก

แต่ในมุมของสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมกันคว่ำสูตรหาร 100 อ้างเหตุผล เป็นไปตามกลไกรัฐสภา ชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ ที่เปิดช่องให้ทำได้ จึงไม่ห่วงว่าจะถูกร้องเรื่องขัดจริยธรรมร้ายแรง เพราะต้องดูที่เจตนา อีกทั้งรัฐธรรมนูญก็เปิดช่องให้ทำได้

มาตรฐานทางจริยธรรม เป็นกลไกใหม่ ที่กำหนดเพิ่มเติมไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อำนาจ ป.ป.ช.ทำหน้าที่สอบสวน ชงเรื่องส่งศาลฎีกา หากมีคำพิพากษาว่ามีความผิดจริง ต้องพ้นจากตำแหน่ง และถูกเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี ถอดถอนจากตำแหน่ง ซึ่งขณะนี้มี สส. 1 คน ที่ถูกตัดสินขัดจริยธรรมร้ายแรง คือ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ อดีตสส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ จากกรณีรุกที่ป่า และที่กำลังจะตามมาติด ๆ คือ นางสาวธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ สส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ปมเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งศาลฎีกานัดพร้อม เพื่อรอฟังผลคดีในวันพรุ่งนี้

กรณีสมาชิกรัฐสภาไม่เข้าทำหน้าที่ จงใจทำสภาล่ม เพื่อคว่ำกฎหมาย ยังถูกมองว่า อาจรอดตาข่ายมาตรฐานจริยธรรมได้ เพราะไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การทำลายหลักการของกฎหมาย และจะยิ่งเป็นอันตรายหากมีการนำเทคนิกทางกฎหมายนี้มาใช้กับเรื่องหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ

ไม่ว่าใครจะได้หรือเสียจากสูตรหาร 100 หรือ 500 แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์สภา และยังเปิดช่องโหว่ใหญ่ที่อาจถูกนำเทคนิกทางกฎหมายนี้ไปใช้ จนประเทศชาติเสียประโยชน์ด้วย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark