ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตีตรงจุด : MOUNTAIN B - ซานติก้าผับ โศกนาฏกรรมนักเที่ยวราตรี

เช้านี้ที่หมอชิต - ตีตรงจุดวันนี้ มาวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และความต่างของโศกนาฏกรรมเพลิงไหม้ เมาท์เทน บี กับ ซานติก้า ผับ

นางสาวบุษกร แสนสุข ประธานคณะทำงานประสานภัยพิบัติอัคคีภัย สภาวิศวกร พูดถึงเหตุเพลิงไหม้ที่เมาท์เทน บี กลางดึกวันที่ 5 สิงหาคม มีผู้เสียชีวิต 15 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 40 คน โดยวิเคราะห์จากข้อมูลที่ผู้รอดชีวิตที่เล่าตรงกัน คือมีไฟลุกไหม้ลงมาจากฝ้าเพดาน และได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้นหลายครั้ง จึงตั้งข้อสังเกตได้ทั้งเรื่องของระบบไฟฟ้า สายไฟฟ้า ที่ไม่ได้ติดตั้งตามมาตรฐาน

และเมื่อมองโดยหลักของการก่อสร้างแล้ว การที่เพลิงลุกลามอย่างรวดเร็ว มาจากวัสดุก่อสร้างและวัสดุที่ใช้ตกแต่งไม่ได้ใช้วัสดุที่ป้องกันการติดไฟ หรือวัสดุที่ติดไฟได้ยาก คืออุณหภูมิต้องไม่น้อยกว่า 750 องศาเซลเซียส มีดัชนีการลามไฟและดัชนีการกระจายควันไฟต่ำ

นอกจากนี้ ภาพที่ปรากฎเห็นนักท่องเที่ยววิ่งออกมาที่ประตูทางเดียวกัน ก็ถูกตั้งคำถามว่าเพราะการก่อสร้างร้านมีการออกแบบทางเข้าออกไม่ได้ตามมาตรฐานหรือไม่

เมื่อมาดูที่แผนผังของ เมาท์เทน บี พบว่า มีประตูทางเข้า-ออก 3 ประตู คือ ประตูเข้า-ออกที่ 1 เป็นประตูเหล็ก ซึ่งเป็นประตูหลักที่ใช้เป็นทางเข้าออก เมื่อผ่านเข้ามาแล้ว จะเจอประตูที่ 1 ชั้นใน

ส่วนประตูเข้า-ออก ประตูที่ 2 จะอยู่ด้านขวามือของร้าน สำหรับให้พนักงานเข้าออกและใช้ขนเครื่องดื่ม ซึ่งต้องผ่านจุดเคาน์เตอร์คิดเงินและเคาน์เตอร์เครื่องดื่ม ประตูที่ 3 ด้านหลังร้าน ซึ่งเป็นประตูที่ให้สำหรับนักร้องและนักดนตรีเข้าออกเท่านั้น ซึ่งข้อมูลของผู้รอดชีวิตบอกว่า ประตูนี้จะล็อกไม่ให้บุคคลอื่นผ่านเข้าออก จึงเท่ากับว่า ประตูที่นักท่องเที่ยวใช้เข้าออกมีแค่ประตูด้านหน้าจุดเดียว

ในส่วนของวัสดุภายในร้านที่ถกเถียงกันอย่างมากหลังเกิดเหตุ คือน้ำยาโฟมซับเสียง ที่เชื่อว่าเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีนั้น เมื่อวานนี้ นายพิเชษฐ์ ธินนท์ เจ้าของ บจก.อินซูเลชั่น ซึ่งรับฉีดพ่นน้ำยาโฟมซับเสียงให้กับทางร้าน ยืนยันว่า น้ำยาพียู โฟม ที่ใช้ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม มีมาตรฐานสากลรับรองจากประเทศเยอรมัน สามารถป้องกันความร้อน กันรั่ว และกันเสียงเข้า-ออก ไม่ได้เป็นเชื้อเพลิงที่ติดไฟได้ง่ายอย่างที่เป็นข่าว

หลายคนนึกถึงเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ซานติก้า ผับ ย่านทองหล่อ ในคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 31 ธันาวาคม 2551 ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 67 คน บาดเจ็บกว่า 100 คน จำนวนนี้สาหัส 32 คน และหลายคนกลายเป็นผู้พิการ

แม้ทั้งสองเหตุการณ์นี้ มีบางจุดที่ต่างกันอยู่ คือ ตัวสถานที่ ซานติก้า ผับ หลังคาปิดทึบกว่า ทำให้ควันลดระดับต่ำลงเรื่อย ๆ คนสำลักควันเร็ว จนหลังคาไหม้และถล่ม

แต่จุดที่เหมือนกันของทั้ง 2 สถานที่นี้ คือวัสดุภายในเป็นพลาสติก โฟมติดไฟง่าย และความกว้างของประตูหนีไฟไม่เพียงพอ แคบ ทำให้คนหนีออกยาก

ซึ่งเคยมีการถอดบทเรียนจากเพลิงไหม้ซานติก้า ผับ มาแล้ว จนกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงว่าด้วยสถานบริการที่กำหนดให้ต้องมีระบบความปลอดภัยที่เหมาะสม เช่น ประตูทางออก ประตูหรือทางหนีไฟ ระบบการระบายอากาศ 

ขณะเดียวกันก็มีประกาศเรื่องระบบความปลอดภัยของสถานบริการ ที่ต้องให้ทางออก ประตูหรือทางหนีไฟ ต้องมีจำนวนสอดคล้องกับจำนวนคนสูงสุดในสถานบริการนั้น ๆ

ถ้ามาย้อนดูสถิติไฟไหม้ทั่วประเทศ ปี 2565 ไม่ใช่แค่เพียงเหตุการณ์ที่เมาท์เทน บี เฉพาะสัปดาห์แรกของสิงหาคม ก็เกิดเหตุแล้ว 18 จังหวัด และ กทม. แต่หากนับจากต้นปีมาเกิดขึ้นถึง 75 จังหวัด และ กทม.

นอกจากทรัพย์สินแล้ว ความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้คือชีวิตคน มีผู้บาดเจ็บจากเหตุอัคคีภัยกว่า 230 คน และผู้เสียชีวิต 78 คน ทั่วประเทศ

ทั้งนี้มีคำแนะนำประชาชนที่เข้าไปทุกอาคาร ต้องสังเกตป้ายบอกทางหนีไฟ หากรู้สึกไม่ปลอดภัย ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่นาน และหากกรณีเกิดเหตุขึ้น สิ่งแรกที่สำคัญคือ ตั้งสติ รีบออกมาให้เร็ว หากมีควันไฟ ควรหมอบคลานต่ำ และหากไฟติดลุกไหม้เสื้อผ้า ให้ล้มตัวลง แล้วกลิ้งเพื่อให้ไฟดับ หรือขอความช่วยเหลือให้คนมาช่วยดับไฟให้เร็วที่สุด อย่าวิ่งไปทั้งที่เสื้อผ้าติดไฟ เพราะยิ่งสัมผัสกับอากาศ ไฟก็จะยิ่งลุกโหมมากขึ้น

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark