ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : บทเรียนคดีมหากาพย์ ทุจริตจัดซื้อรถดับเพลิง กทม.

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ สรุปคดีทุจริตจัดซื้อรถดับเพลิงของ กทม. หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา สั่งภรรยาและลูกของนายสมัคร สุนทรเวช ชดใช้เงินกว่า 587 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย พร้อมลงพื้นที่สำรวจสถานภาพการบริหารจัดการ และการใช้งานเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าหรือไม่ ติดตามจากรายงาน

คดีจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นคดียืดเยื้อมานานร่วม 10 ปี เดินทางมาถึงบทสรุป เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ครอบครัวของสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องร่วมกันชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทน ในอัตราร้อยละ 30 ของมูลค่าความเสียหายกว่า 1,958 ล้านบาท หรือคิดเป็นเงินจำนวนกว่า 587 ล้านบาท

ที่มาของเรื่องนี้ เกิดขึ้นในปี 2547 สมัยที่นายสมัคร ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ว่าฯ ได้เซ็นซื้อรถและเรือดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย จากบริษัทเอกชนของออสเตรีย ซึ่งเป็นเงินกว่า 6,600 ล้านบาท ก่อนถูก ป.ป.ช.ชี้มูลทุจริต ว่ามีการฮั้วประมูล และกลายเป็นคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินให้หลายคนติดคุก หนึ่งในนั้นคือ นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่หนีคดีมาเกือบ 9 ปีแล้ว

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ให้เหตุผลโดยยกกรณีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือระเบียบด้านการจัดซื้อจัดจ้าง สร้างความเสียหายให้กับรัฐ ซึ่งทำให้ครอบครัวต้องรับผิดชอบแทน เป็นกรณีตัวอย่าง และเป็นอุทาหรณ์ให้เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ซึ่งมีอำนาจ ควรตระหนักในบทบาทหน้าที่ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ และไม่ปล่อยปละละเลยให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ จนอาจกลายเป็นภาระหนี้สินของประชาชนและประเทศชาติ

คอลัมน์หมายเลข 7 สำรวจสถานภาพรถและเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย พบว่าปัจจุบันถูกนำไปจอดใน 3 พื้นที่ คือ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี กำลังถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเรื่องที่จอด

ขณะที่เรือจอดอยู่ที่ท่าเรือย่านสามเสน อยู่ระหว่างการบำรุงรักษาและทำท่าจอดเรือใหม่ และอีกส่วนจอดอยู่ที่บางกรวย-ไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเมื่อปี 2559 พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ไปทำการตรวจสอบรถเป็นรายคัน เพื่อหาทางซ่อมแซมและนำมาใช้งาน โดยอนุมัติงบประมาณไปกว่า 180 ล้านบาท

ความเสียหายจากการทุจริตในโครงการนี้ ที่มีมูลค่าเกือบ 2,000 ล้านบาท แม้จะมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้มีการชดเชยค่าเสียหายกว่า 587 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครรับประกันได้ว่า สุดท้ายจะได้เงินจริง หรือเห็นแค่ตัวเลข ส่วนภาพของรถที่จอดเรียงราย แทบไม่ได้ใช้งานก็เป็นบทสะท้อนการโกงที่นำมาซึ่งความเสียหาย ที่ไม่อาจเรียกคืนได้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark