ตีตรงจุด : ปัญหาผู้สูงอายุสูญหาย กับการเปลี่ยนผ่านสังคมสูงวัย
เจาะประเด็นข่าว 7HD - ก่อนหน้านี้ตีตรงจุด เคยสะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมสูงวัยมาหลายด้านแล้ว ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งมุมที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือ ปัญหาคนหาย โดยเฉพาะผู้ที่สูญหายที่เป็นผู้สูงอายุ เพราะมีแนวโน้มสูงที่จะเจอตัว แต่ไม่สมบูรณ์ 100% และบางรายอาจกลายเป็นศพในที่สุด
ปัญหาบุคคลสูญหายไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะในหลายประเทศมีการพูดถึงปัญหาคนหาย และหลายประเทศมีรูปแบบการแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน อย่างประเทศไทย มีคนสูญหายจำนวนมากในแต่ละปี ในอดีตที่ผ่านมา กลุ่มที่มักจะสูญหายคือเด็ก แต่ปัจจุบันกับกลายเป็นผู้สูงอายุ
โดยเฉพาะประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศมาตั้งแต่ปีที่แล้ว หรือราวกว่า 12 ล้านคน และอีกราว 13-14 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มถึง 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ 20 ล้านคน เหตุจากคนไทยอายุยืนยาวเพิ่มขึ้น โดยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มจาก 59 ปี เมื่อปี 2513 เปลี่ยนเป็นมีอายุขัยเฉลี่ยกว่า 79 ปี ในปัจจุบัน
จากข้อมูลคนทำงาน 100 คน ปัจจุบันต้องดูแลผู้สูงอายุราว 25-30 คน จากเดิมอยู่ที่เพียง 15 คน ทำให้เงินจากบุตรหลานอาจมีสัดส่วนลดลง หรืออาจไม่ได้รับเลย ขณะที่โครงการของรัฐบาล เพียงการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได จะพบว่ารัฐบาลก็ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี โดยปีที่แล้วต้องจัดสรรงบสูงกว่า 82,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ถึง 30,000 ล้านบาท
นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ระบุว่า ปัจจุบันพบว่ากลุ่มคนพลัดหลงใน 3 ปีที่ผ่านมา ไม่ต่ำกว่า 1,500 คนต่อปี แต่ช่วงหลังมีนัยสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีอาการจิตเวช รองลงมา โรคสมองเสื่อม มีอาการทางสมอง และพัฒนาการช้า ซึ่งกลุ่มคนกลุ่มนี้เวลาหายตัวจะมีอุปสรรคมากกว่าเด็กหาย เพราะไม่มีเบาะแสให้ติดตาม ซ้ำบางรายยังจำไม่ได้แม้แต่ชื่อตัวเอง
นายเอกลักษณ์ ยังบอกด้วยว่า หากพูดถึงการให้ความสำคัญเรื่องคนหาย ในส่วนของภาคประชาชนถือว่ามีความตื่นตัว แต่หากพูดถึงระดับหน่วยงานยังถือว่าน้อย หากเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ ทั้ง ๆ ที่เป็นปัญหาระดับสากล โดยเฉพาะประเทศไทย ไม่มีกฎหมายดูแลเรื่องคนหายโดยตรง ไม่มีการเก็บสถิติที่เป็นแบบเรียลไทม์ และไม่มีหน่วยงานไหนรับดูแลเรื่องนี้โดยตรง ที่สำคัญทัศนคติต่อผู้สูงอายุ ยังถูกมองว่าไม่ควรลงทุนด้วย เพราะเป็นทรัพยากรที่ไม่ส่งผลทางเศรษฐกิจ
ส่วนการสังเกตกลุ่มผู้สูงอายุพลัดหลง ให้สังเกตอาการเบื้องต้นคือ ชอบฝังตัวอยู่ป้ายรถเมล์เป็นเวลานาน ๆ หลายชั่วโมง พูดจาวกวน พูดคนเดียว บ่นพึมพำ และเมื่อเข้าไปพูดคุยก็ไม่สามารถบอกรายละเอียดตัวเองได้ ให้พยายามสังเกตหาสิ่งที่จะเป็นข้อมูล เช่น โทรศัพท์มือถือ นามบัตร หรือริสต์แบนด์ แต่หากไม่พบสิ่งที่จะบ่งบอกตัวตนได้ ให้แจ้งตำรวจ หรือโทร 191 ทันที
ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งดูแลเรื่องนี้ ให้ข้อมูลว่า แม่งานที่ดูเรื่องนี้จริง ๆ คือ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยจะเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับคนหาย แต่ของตำรวจเป็นฝ่ายปฏิบัติ และพบ่วาตั้งแต่ปี 2563-2565 มีคนหายทุกปีอย่างปี 2562 มีคนหาย 501 คน ปี 2563 คนหาย 247 คน ปี 2564 มีคนหาย 174 คน ซึ่งทิศทางลดลง แต่ในแง่ผู้สูญหาย ช่วงหลังกลับเป็นคนสูงอายุ และอัตราค้นพบตัวอยู่ที่ร้อยละ 30
ส่วนในแง่การบูรณาการข้อมูลยอมรับว่า ยังติดขัดปัญหาเล็กน้อย แต่ในแง่การปฏิบัติและทีมค้นหา ล่าสุดปี 2565 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความสำคัญเรื่องนี้ และมีการตั้ง พลตำรวจโท ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อมาดูแลเรื่องนี้ ส่วนประเด็นเรื่องสุนัข K9 ดมกลิ่น ไม่ตอบโจทย์การค้นหาคน ยืนยันว่าในการตามหาคนหายไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะหากผ่านไป 24 ชั่วโมง กลิ่นคนจะเปลี่ยน สุนัขจึงไม่ตอบโจทย์
จะรับมืออย่างไร เมื่อการสูญหายของคนเกิดขึ้นทุกปี บางรายหายไป แต่เพราะไม่มีข้อมูล ข้อมูลไม่บูรณาการ ทำให้พวกเขากลายเป็นศพไร้ญาติ หรือกลายเป็นคนเร่ร่อนในสังคม โดยเฉพาะอัตราการสูญหายเริ่มเป็นผู้สูงอายุ อย่ามองข้ามเรื่องเหล่านี้ เพราะถ้าวันใดเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวเรา เราอาจตั้งตัวไม่ทัน