ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

ตีตรงจุด : ลดภาษีดีเซล 5 บาท หน้าปั๊มยังจ่ายเท่าเดิม

เจาะประเด็นข่าว 7HD - วันนี้เป็นวันที่ 3 ที่รัฐบาลลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร โดยเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม ต่อเนื่อง 2 เดือน ไปถึงวันที่ 20 กรกฎาคม เท่ากับจะลดภาษีดีเซล 5 บาท นาน 2 เดือน ซึ่งจะทำให้รัฐสูญรายได้กว่า 1.98 หมื่นล้านบาท แต่ราคาหน้าปั๊มยังไม่เปลี่ยนแปลง

ปกติรัฐจะเก็บภาษีดีเซลที่ 5.99 บาทต่อลิตร ก่อนหน้านี้ลดไป 3 บาท โดย 2 บาท ไปเติมให้กองทุนน้ำมัน อีก 1 บาท ลดราคาหน้าปั๊ม และล่าสุดลดสุด ๆ ไปเลยที่ 5 บาท คนก็คาดหวังว่าอีก 2 บาท ที่ลดเพิ่มขึ้นมาจะทำให้ราคาหน้าปั๊มลดลง แต่ไม่ใช่ เพราะเงินที่ลดเพิ่มอีก 2 บาท ไปเติมที่กองทุนน้ำมัน รัฐก็จะมีรายได้จากภาษีลดลงเหลือแค่ 99 สตางค์ ส่วนกองทุนน้ำมันมีเงินเติมเพิ่มขึ้นอีก 2 บาท ต่อเนื่องไปอีก 2 เดือน ขณะที่เรา ๆ ท่าน ๆ ยังต้องเติมน้ำมันดีเซลในราคาที่ตรึงไว้ 32 บาท

ซึ่งก็ต้องเรียกว่าเป็นการตรึงราคาครั้งที่ 2 แล้ว เพราะก่อนหน้านี้ตามแผนเดิมปรับขึ้นจาก 30 บาท เป็น 32 บาท วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา และจะปรับเพิ่มสัปดาห์ละ 1 บาท จนชนเพดานที่ 35 บาท แต่สุดท้ายยังเดินหน้าตามแผนไม่ได้ จึงยันราคาไว้ที่ 32 บาท ซึ่งราคานี้ก็ยังไม่ใช่บทสรุป เพราะจะมีการประเมินกันทุกสัปดาห์

รายได้ที่หายไปจากการลดภาษีดีเซลครั้งนี้ จะอยู่ที่เดือนละประมาณ 9,911 ล้านบาท รวม 2 เดือน 19,822 ล้านบาท เกิดคำถามว่าจะกระทบต่อเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ทั้งปีงบประมาณ 2565 ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท หรือไม่ เรื่องนี้ทางกระทรวงการคลังยังยืนยันไม่ส่งผล เพราะ 6 เดือนที่ผ่านมา จัดเก็บรายได้เกินเป้าหมายราว 68,890 ล้านบาทแล้ว แต่ก็มีเสียงเตือนจากนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ว่า รัฐบาลจะอุดหนุนแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ ต้องหันมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่ใช่หว่านแหกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายคนละครึ่งเฟส 5 ไม่ควรทำ และสุดท้ายเรื่องของน้ำมัน คงต้องปล่อยให้ลอยตัว แล้วช่วยเหลือเฉพาะรายกลุ่ม เพราะมีผู้ใช้ดีเซลที่ไม่เกี่ยวกับภาคขนส่งอยู่ในระบบประมาณ 30%

ขณะที่เงินรัฐหด รายได้ประชาชนก็หายเหมือนกัน เพราะแม้จะเริ่มเปิดประเทศ คลายล็อกกันเกือบจะสุด ๆ แล้ว แต่เศรษฐกิจฐานรากยังไม่ค่อยกระเตื้อง ประกอบกับราคาน้ำมันยังไม่มีแนวโน้มลดลง นักเคลื่อนไหวด้านพลังงานจึงชี้ว่า การแก้ปัญหาของรัฐยังไม่ตรงจุด เพราะยังมีสัดส่วนที่สามารถลดลงได้ คือ ค่าการกลั่น ที่ปัจจุบันทะลุไปถึงเกือบ 5 บาท 90 สตางค์ ทั้งที่ตัวเลขที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 1 บาท 50 สตางค์

คุณรสนา ยังเสนอด้วยว่า นอกจากรีดไขมันในส่วนของโรงกลั่นแล้ว ยังต้องปรับสูตรเอทานอลให้เหลือ 3% แทน 5% ในปัจจุบัน รวมถึงบังคับใช้พระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 ห้ามการส่งออกในภาวะที่ประเทศกำลังขาดแคลนน้ำมัน

และที่เรียกร้องกันมาก ๆ ตอนนี้ คือ เบนซิน เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยได้รับการอุดหนุนช่วยเหลือจากรัฐเลย ทำให้ราคาทะลุ 40 บาท กันมาระยะหนึ่งแล้ว ก็คงต้องรอกันต่อไปว่าจะมีความช่วยเหลือส่วนนี้จากภาครัฐออกมาหรือไม่ แต่ดูแล้วคนใช้เบนซินคงต้องพึ่งตัวเองมากกว่า

หนักหนาไปกว่าเรื่องภาระค่าน้ำมัน ก็เห็นจะเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือน ที่ล่าสุดสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดสถิติปัญหาหนี้สินครัวเรือน ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยพบไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ตัวเลขอยู่ที่ 14.58 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.9% หรือคิดเป็น 90.1 % ต่อจีดีพี แน่ในไตรมาสแรกของปีนี้ สถานการณ์ด้านแรงงานยังปรับตัวดีขึ้น มีการจ้างงานทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3% และอัตราว่างงานลดลง 1.53% ต่ำที่สุดนับตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด ก็ถือว่าในข่าวร้ายยังพอมีข่าวดีอยู่บ้าง

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark