โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ทำผู้ติดเชื้อพุ่ง
เช้านี้ที่หมอชิต - ผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้เสียชีวิต เมื่อวานนี้ทำนิวไฮ สูงสุดในระลอกการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ขณะที่ แพทย์จุฬาฯ เผยโควิด-19 ระลอกนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น คาดผู้ติดเชื้ออาจพุ่งสูง แตะ 30,000-50,000 คนต่อวัน
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวานนี้ทำนิวไฮ มีผู้ติดเชื้อ 18,953 คน ยังไม่รวมผู้เข้าข่ายติดเชื้อจากการตรวจ ATK อีก 8,814 คน หายป่วย 13,962 คน ยังรักษาอาการ 162,460 คน เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 747 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 189 คน และเสียชีวิต 30 คน สูงสุดในระลอกนี้
กรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดอยู่ที่ 2,690 คน รองลงมาเป็น สมุทรปราการ 975 คน ชลบุรี 828 คน นครศรีธรรมราช 810 คน และ นนทบุรี 762 คน
กราฟผู้เสียชีวิตใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานการเสียชีวิตมากกว่า 20 คนต่อวัน และมาสูงสุดเมื่อวานนี้ แตะขึ้นมา 30 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากถึง 22 คน ส่วนกราฟผู้ติดเชื้อทะยานขึ้นมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ จาก 14,373 คน กระโดดขึ้นมาถึงวันนี้ ทะลุ 18,000 คน
ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การระบาดในไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อรายวันมีโอกาสพุ่งสูง 30,000-50,000 คน จากการนำผลตรวจยืนยัน RT-PCR รวมกับยอด ATK ทำให้แต่ละวันจะมีผู้ติดเชื้อทะลุ 25,000 คน
สำหรับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 มีแนวโน้มแพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว และทุกการเปลี่ยนสายพันธุ์การระบาดในแต่ละครั้ง จะพบผู้ติดเชื้อในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า จากระลอกแรก พบผู้ติดเชื้อหลักสิบคน ระลอก 2 เพิ่มเป็นหลักร้อยคน ระลอก 3 หลักพันคน จนมาระลอก 4 สายพันธุ์เดลตา พบผู้ติดเชื้อหลักหมื่นคน จึงต้องเฝ้าระวังระลอกนี้ อาจพบผู้ติดเชื้อหลักแสนคน
ขณะที่ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า วันหยุดสุดสัปดาห์นี้ โควิดโอมิครอนเขายังไม่ยอมหยุดด้วย มีเพียงผ่อนหนักผ่อนเบาเป็นวัน ๆ ไป วันนี้แม้ยอดผลตรวจยืนยันจะวิ่งไปต่อเพิ่มอีกเล็กน้อยไม่ถึงร้อย แต่ยอดรวม ATK แล้วยังต่ำกว่าสามหมื่นและต่ำกว่าเมื่อวานไปหลายพัน ส่วนยอดผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจค่อย ๆ เพิ่มต่อเข้าใกล้ 200 ไปทุกที ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตกำลังจะฝ่าแนวรับที่ 30 ไปได้แล้ว โดยข้อมูลจากโรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใหญ่ ๆ เตียงสำหรับรับผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนักเริ่มร่อยหรอเต็มที่ จนต้องเตรียมหาทางเพิ่ม แต่ส่วนใหญ่ที่หนักเป็นจากโรคพื้นฐานเอง ไม่ได้เป็นจากตัวโควิดโดยตรง
สำหรับการนำยารักษาโรคหนอนพยาธิที่ชื่อว่า "ไอเวอร์เม็คติน" มาใช้รักษาผู้ป่วยโควิดที่อาการไม่รุนแรง โดยหวังว่าจะช่วยชะลอการลุกลามของโรคและลดการเสียชีวิตลงได้ เนื่องจากยานี้มีราคาไม่แพง และหาได้ง่าย และมีการค้นพบว่ามีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัสบางชนิดได้ โดยกลไกการออกฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสนั้นไม่ทราบแน่นอน ที่บ้านริมน้ำเองก็กำลังทำการศึกษาเปรียบเทียบยานี้กับยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ใช้เป็นมาตรฐานอยู่ในบ้านเรา แต่ยังไม่เรียบร้อยดี พอดีมีการศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของเราเผยแพร่ออกมาก่อน จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง
นอกจากนี้ ในโพสต์ของ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ยังระบุอีกว่า ทีมวิจัยทำการศึกษาในโรงพยาบาล 20 แห่ง ของมาเลเซีย ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งช่วงนั้นเชื้อก่อโรคส่วนใหญ่น่าจะเป็นสายพันธุ์เดลตา รวบรวมผู้ป่วยผู้ใหญ่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป ที่มีโรคร่วมอยู่ และป่วยด้วยโควิดแบบไม่รุนแรง จำนวน 490 คน แบ่งเป็นกลุ่มให้ยาไอเวอร์เม็คติน นานเป็นเวลา 5 วัน ร่วมกับการรักษาอื่นตามมาตรฐาน กับกลุ่มที่ได้รับการรักษาอื่น ๆ ตามมาตรฐานอย่างเดียว โดยทั้งหมดจะต้องตรวจพบเชื้อหรือมีอาการของโรคมาไม่เกิน 7 วัน ซึ่งจากผลการรักษาพบว่า ทั้ง 2 กลุ่ม ไม่แตกต่างกันในแง่ของการลุกลามของโรคต่อจนรุนแรง การเข้าไอซียู การใส่เครื่องช่วยหายใจ และการเสียชีวิต ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับคำแนะนำในปัจจุบันขององค์การอนามัยโลก และหน่วยงานทางการแพทย์ เป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล ที่ว่าการใช้ยาไอเวอร์เม็คตินในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการว่าได้ประโยชน์ ถ้าแพทย์จะใช้รักษาจริงจังขอให้เป็นไปเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น
นายกรัฐมนตรี ยืนยัน รัฐบาลไม่ได้ยกเลิกหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน ดังนั้น ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน และสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากสถานพยาบาลเอกชนมีการเรียกเก็บค่ารักษา จะถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย