คลิปที่เกี่ยวข้อง

อัปเดต 8 มรดกโลกของไทย 2024 World Heritage Site โดย UNESCO มีที่ไหนบ้าง?



หลังจากที่ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยยูเนสโก UNESCO ไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ซึ่งถือเป็นมรดกโลกแห่งที่ 8 ของไทย

วันนี้เราพาไปอัปเดต 8 มรดกโลกในไทย 2024 ซึ่งแบ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 5 แห่ง และมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง จะมีที่ไหนบ้าง ไปดูกัน



1. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อ 13 ธันวาคม 2534



นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (Historic City of Ayutthaya) แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่ครอบคลุมพื้นที่ 1,810 ไร่ บนเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา โดยมีแม่น้ำไหลผ่าน 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี รวมทั้งปรากฏคลองกระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่



 


ในอดีตกรุงศรีอยุธยาเคยเป็นราชธานีที่เจริญรุ่งเรืองในพุทธศตวรรษที่ 19 - 24 รวมระยะเวลาการเป็นราชธานียาวนานถึง 417 ปี โดยมีโบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ พระราชวังโบราณ, วัดพระศรีสรรเพชญ์, วัดมหาธาตุ, วัดราชบูรณะ, วัดพระราม, วิหารพระมงคลบพิตร, วัดโลกยสุธาราม, วัดธรรมิกราช เป็นต้น




ปัจจุบันนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ยังคงปรากฏร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ ความสง่างามของปราสาท ราชวัง วัดวาอาราม ป้อมปราการ และบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวกรุงศรีอยุธยาในอดีต เป็นหลักฐานแสดงถึงความชาญฉลาดของชุมชนหนึ่งในอดีต และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในปี 1991 ตามหลักเกณฑ์ข้อที่ 3 : สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว






ค่าเข้าชม
ชาวไทย 10 บาท / ชาวต่างชาติ 40 บาท

ที่อยู่ : เกาะเมืองอยุธยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
เปิดเข้าชม : ทุกวัน 08.00 - 18.00 น.
ที่จอดรถ : มี
Facebook : อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา Ayutthaya Historical Park
พิกัด : Google Map




2. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร
ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อ 13 ธันวาคม 2534



เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) ได้รับการประกาศเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม จากองค์การยูเนสโก UNESCO ครอบคุลมพื้นที่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโทัย, อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร



 


ในอดีตเมืองสุโขทัยเคยเป็นราชธานีของไทย เป็นศูนย์กลางการปกครอง ศาสนา เศรษฐกิจ และมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก จนกลายเป็นรัฐสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18 - 19 เป็นเวลานานกว่า 200 ปี ภายในมีทั้งพระราชวัง ศาสนสถาน โบราณสถาน โดยมีคูเมือง กำแพงเมือง และประตูเมืองโบราณล้อมรอบอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส




ด้วยความโดดเด่นนี้ ส่งผลให้เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1991 ตามหลักเกณฑ์ข้อที่ 3 : สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว




อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 70 ตารางกิโลเมตร และมีโบราณสถานที่สำคัญมากมาย เช่น กำแพงเมืองสุโขทัย, วัดมหาธาตุ, วัดชนะสงคราม, วัดตระพังเงิน, วัดสระศรี, วัดศรีสวาย, วัดพระพายหลวง, เนินปราสาทพระร่วง และอื่น ๆ อีกมากมาย




ค่าเข้าชม
ชาวไทย 10 บาท / ชาวต่างชาติ 40 บาท

ที่อยู่ : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย
เปิดเข้าชม : ทุกวัน 06.30 - 19.30 น. / วันเสาร์ 06.30 - 21.00 น. (มีการเปิดไฟส่องโบราณสถาน)
ที่จอดรถ : มี
Facebook : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
พิกัด : Google Map




3. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อ 13 ธันวาคม 2534



เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร - ห้วยขาแข้ง (Thungyai-Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries) เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีพื้นที่รวม 4,017,087 ไร่ หรือ 6,427.34 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี อุทัยธานี และตาก นับเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย และยังเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้




โดย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร - ห้วยขาแข้ง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในปี 1991 ตามหลักเกณฑ์ข้อที่ 10 : เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก




ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ มีจุดที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเช้าชม ได้แก่ อาคารมรดกโลก ทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ตั้งอยู่บริเวณสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี






นอกจากนี้ก็ยังมี อนุสรณ์สถาน สืบ นาคะเสถียร และบ้านพักคุณสืบ นาคะเสถียร, เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติเขาหินแดง ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดิน 1.30 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีกิจกรรมส่องสัตว์ ในพื้นที่โป่งช้างเผือก และริมห้วยทับเสลาย โดยภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ มีทั้งบ้านพักและลานกางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย




ค่าเข้าชม
ผู้ใหญ่ 20 บาท / เด็ก 10 บาท

ที่อยู่ : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี
เปิดบริการ : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ เปิดบริการทุกวัน 06.30 น. - 15.30 น.
ที่จอดรถ : มี
Facebook : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง : Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary
พิกัด : Google Map




4. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อ 13 ธันวาคม 2535



แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (Ban Chiang Archaeological Site) ตั้งอยู่ในอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งอารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคโลหะเมื่อราว 5,000 ปีก่อน มีความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรม และเทคโนโลยีมาแต่โบราณ มีประเพณีการฝังศพ มีการทำเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ และนิยมทำเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับจากสำริดในระยะแรก และใช้เหล็กในระยะต่อมา






นอกจากนี้ชาวบ้านเชียงยังรู้จักการทำเครื่องจักสาน ทอผ้า เครื่องปั้นดินเผา รวมถึงภาชนะดินเผาลายเขียนสีรูปทรงและลวดลายต่าง ๆ ซึ่งจากการขุดพบ คาดว่ามีอายุเก่าแก่กว่าที่ค้นพบที่ประเทศจีน และอาจเก่าแก่ที่สุดในโลก




ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นนี้ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี 1992 ตามหลักเกณฑ์ข้อที่ 3 : สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว




ค่าเข้าชม
ชาวไทย 30 บาท / ชาวต่างชาติ 150 บาท

ที่อยู่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง หมู่ 13 ถ.สุทธิพงษ์ ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี
เปิดเข้าชม : 09.00 - 16.00 น. (หยุดวันจันทร์-อังคาร)
ที่จอดรถ : มี
Facebook : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง : Banchiang National Museum
พิกัด : Google Map




5. กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2548



กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex) ประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ มีพื้นที่รวมกันทั้งสิ้น 3,854,083.53 ไร่ หรือ 6,152.13 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์






ผืนป่าแห่งนี้มีระบบนิเวศป่าเขตร้อนที่สำคัญ ยังเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อการอยู่รอดในระยะยาวของสัตว์ชนิดต่าง ๆ และมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ และเป็นต้นน้ำลำธารที่ไหลหล่อเลี้ยงการดำรงชีวิตของชุมชนต่าง ๆ ในภูมิภาคโดยรอบ





 


โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในปี 2005 ตามหลักเกณฑ์ข้อที่ 10 : เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก










6. กลุ่มป่าแก่งกระจาน
ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อ 26 กรกฎาคม 2564



กลุ่มป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex) เป็นแหล่งมรดกโลกแหล่งที่ 6 และเป็นลำดับที่ 3 ของมรดกทางธรรมชาติของไทย มีพื้นที่รวมประมาณ 2,938,910 ไร่ หรือ 4,702 ตารางกิโลเมตร อยู่ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยครอบคลุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี






กลุ่มป่าแก่งกระจาน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงพบชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่ายิ่งด้านการอนุรักษ์และวิทยาศาสตร์ สัตว์ที่หายาก เช่น จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย สมเสร็จ เสือโคร่ง ช้าง กระทิงรวมทั้งพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นก มากกว่า 490 ชนิด




โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในปี 2022 ตามหลักเกณฑ์ข้อที่ 10 : เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก










7. เมืองโบราณศรีเทพ
ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อ 19 กันยายน 2566



อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ หรือ เมืองโบราณศรีเทพ (Si Thep Historical Park) ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นศาสนสถานโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 ถูกค้นพบและตั้งชื่อว่า เมืองศรีเทพ โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ






อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มีคูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เมืองในและเมืองนอก มีพื้นที่ประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,889 ไร่ มีโบราณสถานกระจายตัวอยู่ 48 แห่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา และศาสนาฮินดู มีรูปแบบศิลปกรรมในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) และวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 16-18)




มีโบราณสถานที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ ได้แก่ เขาคลังนอก เขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ และ ปรางค์สองพี่น้อง ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง นอกจากนี้ยังมีสระน้ำโบราณทั้งขนาดใหญ่ และเล็กอีกจำนวนกว่า 70 แห่ง




อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี 2023 ตามหลักเกณฑ์ข้อที่ 3 : สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว




ค่าเข้าชม:
คนไทย 20 บาท
ชาวต่างชาติ 100 บาท
ยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชม ให้แก่
- พระภิกษุ สามเณรในพระพุทธศาสนา หรือนักบวชในศาสนาอื่น
- นักเรียน นิสิต และนักศึกษาในเครื่องแบบนักเรียน
- นิสิตและนักศึกษา รวมทั้งครูอาจารย์ผู้ควบคุมในกรณีขอเข้าชมเป็นหมู่คณะโดยประสานงานล่วงหน้า
- แขกผู้มีเกียรติที่กรมศิลปากรหรืออุทยานประวัติศาสตร์เชิญหรือต้อนรับ

ที่อยู่ : ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์
เปิดเข้าชม : ทุกวัน 08.00 - 16.30 น.
ที่จอดรถ : มี
โทร : 056 921 322
Facebook : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
พิกัด : Google Map




8. ภูพระบาท
ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อ 27 กรกฎาคม 2567



อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (Phu Phra Bat Historical Park) มรดกโลกแห่งใหม่ของประเทศไทย ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน จังหวัดอุดรธานี เป็นอุทยานที่แสดงถึงอารยธรรมของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศ


 


ซึ่ง ภูพระบาท นับว่าเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากที่อื่น ๆ เพราะโบราณสถานส่วนมาก มักจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางธรรมชาติ อย่างเช่น หินทรายรูปทรงต่าง ๆ ที่มีอายุมากกว่า 200 ล้านปี ซึ่งต่อมามนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือเมื่อประมาณ 2500 - 3000 ปีก่อน ได้เข้ามาดัดแปลง อยู่อาศัย และปรับเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมในแต่ละยุค




โดยไฮไลท์ของที่นี่ก็คือ หอนางอุสา มีลักษณะเป็นโขดหิน สูง 10 เมตร รูปทรงคล้ายเห็ด และมีช่องเล็ก ๆ ที่คล้ายกับหน้าต่าง โดยเชื่อว่านี่น่าจะเป็นศาสนสถานของผู้คนในอดีตค่ะ




ด้วยเอกลักษณ์ที่แตกต่างนี้ ภูพระบาท จึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี 2024 ตามหลักเกณฑ์ข้อที่ 3 : สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว







ที่อยู่ : 194 อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
เปิดเข้าชม : ทุกวัน 08.30 - 16.30 น.
ที่จอดรถ : มี
โทร : 042 219 838
Facebook : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
พิกัด : Google Map






BUGABOO LIFESTYLE

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark