หมอไทยจดสิทธิบัตรหมอนท่าคว่ำ พยุงผู้ป่วยโควิด-19
เจาะประเด็นข่าว 7HD - แพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จดสิทธิบัตรหมอน สำหรับใช้รองตัวผู้ป่วยวิกฤตโควิด-19 ในท่านอนคว่ำ เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจสะดวก ช่วยลดปัญหาขาดแคลนไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศติดตามกับคุณมะลิ แซ่ฉิ่น
การนอนท่าคว่ำ ด้วยการใช้หมอนรองช่วงอก สะโพก และศีรษะ ไม่เพียงจะทำให้ปอดลอยจากพื้นเตียง ช่วยให้เครื่องช่วยหายใจทำงานได้ดี และยังส่งผลดีต่อการกระจายของตัวของอากาศในปอดด้วย นี่ทำให้แพทย์ และพยาบาล นำมาเป็นเทคนิคในการดูแลผู้ป่วย หลังการผ่าตัด
แต่พอโควิด-19 ระบาด และมีผู้ป่วยวิกฤตจากภาวะติดเชื้อในปอด ส่งผลให้ปอดอักเสบ และหายใจยากเพิ่มมากขึ้น ก็พบว่า การนอนท่าคว่ำจะส่งผลดีต่อการหายใจของผู้ป่วยวิกฤตเช่นกัน เนื่องจากเชื้อที่ลงสู่ปอด ทำให้หายใจยาก ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และเครื่องออกซิเจนอัตราไหลสูง จนเกิดปัญหาสายระโยงระยาง ซ้ำยังต้องช่วยพลิกตัวทุก 2-4 ชั่วโมง เพื่อหนีปัญหาแผลกดทับ ยิ่งทำให้การทำงานของทีมแพทย์ยุ่งยากยิ่งขึ้น
นี่เป็นแรงบันดาลใจให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หันมาพัฒนานวัตกรรมหมอนท่าคว่ำ หรือ Prone position ซึ่งเป็นการคิดค้นรูปแบบของหมอนนอนท่าคว่ำ ประกอบด้วยหมอน 3 ขนาด คือ หมอนรองอก รองสะโพก และรองศีรษะ ซึ่งผลิตจากวัสดุที่กระจายแรงได้ดี โดยวิวัฒนการใช้โพลิเมอร์ หรือโฟม มาใช้น้ำยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีปัญหาราคาตกต่ำบ่อยครั้ง ผสมร่วมด้วย กลายเป็น วิสโครอิลาสติกเจล ทำให้หมอนที่คิดค้นสามารถกระจายน้ำหนักได้ดีด้วย
ตอนนี้ได้รับการจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ อนุสิทธิบัตรกรมทรัพย์สินทางปัญญา และสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังพัฒนาไปสู่การจัดทำเชิงพาณิชย์ เพื่อบรรเทาความขาดแคลนให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ลดการนำเข้าที่มีราคาสูง และยังเป็นการช่วยเกษตรกรกระจายความเสี่ยงด้านราคา ขณะนี้กำลังต่อยอดออกแบบเตียงพลิกผู้ป่วย เพื่อแบ่งเบาภาระของบุคคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเผชิญความเสี่ยงกับเชื้อโควิด-19 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ